เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอบ้านไผ่

ประวัติความเป็นมา

อำเภอบ้านไผ่เดิมชื่อ บ้านเกิ้ง อยู่ในความปกครองของเมืองชนบท ต่อมาทางราชการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 บ้านเกิ้งได้ยกฐานะเป็นตำบลบ้านเกิ้ง อำเภอชนบท เมื่อประมาณ พ.ศ. 2471 บ้านเกิ้งได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอบ้านไผ่ เชื่อกันว่าบริเวณที่ตั้งคงมีต้นไผ่ ริมคลองห้วยจิกเป็นจำนวนมาก สถานที่ตั้งบ้านไผ่อยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีรถไฟบ้านไผ่ โดยหลวงราษฎร์ (โสฬส อินทรกำแหง) มีศรัทธายกที่ดินให้

ปี พ.ศ. 2482 อำเภอบ้านไผ่ได้รับการยกฐานะจากกิ่งอำเภอบ้านไผ่เป็นอำเภอบ้านไผ่ เปิดให้บริการประชาชน ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ตำบล คือ ตำบลบ้านไผ่ ตำบลบ้านเป้า ตำบลแคนเหนือ และตำบลเปือยน้อย ปี พ.ศ. 2486 ที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ถูกไฟไหม้ ทางราชการจึงได้รวมอำเภอชนบทเข้ากับอำเภอบ้านไผ่ จนถึง พ.ศ. 2509 จึงแยกอำเภอชนบทออกจากอำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองมาแล้วจำนวน 35 คน ปัจจุบันนายอำเภอบ้านไผ่ คือ นายปิตานนท์  ปัญญา

เหตุการณ์ที่สำคัญ             

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสภาคอีสาน เป็นข่าวที่นำความตื่นเต้นและปลื้มปีติแก่ชาวอีสานเป็นอย่างมาก เสด็จพระราชดำเนินผ่านอำเภอบ้านไผ่ โดยทางรถไฟ ชาวอีสานจากอำเภอบ้านไผ่ อำเภอชลบถ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ได้เดินทางมาเฝ้ารอรับเสด็จที่สถานีรถไฟบ้านไผ่กันอย่างเนืองแน่น เวลา 13.25 น. เสด็จฯ ถึงสถานีบ้านไผ่ ร.ต.อ.เอิบ อินกนก นายอำเภอบ้านไผ่ ข้าราชการ และประชาชนรับเสด็จ นายละมัย ปิ่นสุวรรณ สมุห์บัญชี ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา สาขาบ้านไผ่ ทูลเกล้าฯ ถวายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงโบกพระหัตถ์ ให้บรรดาผู้รับเสด็จเพื่อชมพระบารมีและทรงให้ราษฎรเฝ้าประมาณ 5 นาที ( เสวยพระกระยาหารบนรถไฟ )

คำขวัญอำเภอ
นามเมืองบ้านไผ่ พระเจ้าใหญ่ผือบัง จิตรกรรมฝาผนังล้ำค่า แก่งละว้าแหล่งอุดม เยี่ยมชมรอยพระพุทธบาทหินลาด ศูนย์วิทยาศาสตร์ ม.รามฯ

ด้านการท่องเที่ยว

– วัดพระเจ้าใหญ่ผือบัง วัดบูรณสิทธิ์ (วัดพระเจ้าใหญ่) บ้านหนองร้านหญ้า ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระยะทางจากบ้านไผ่ ประมาณ 4 กิโลเมตร มีพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวอำเภอบ้านไผ่ ศรัทธา มาเป็นระยะเวลานาน       

– พระมงคลหลวง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมืองอำเภอบ้านไผ่ วัดวงคลหลวง บ้านเมืองเพีย ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

   – แก่งละว้า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำมีสัตว์น้ำเป็นแหล่งอุดมของพืชพันธุ์ และเป็นแหล่งน้ำในการจัดทำน้ำประปาให้กับอำเภอบ้านไผ่ พื้นที่ของแก่งละว้า มีพื้นที่ ประมาณ 17,000 ไร่ มีการกิจกรรมตกปลาเพื่อการกีฬา การจัดวิ่ง ชม วิวแก่งละว้า

– ภาพจิตกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระยะทางจากอำเภอบ้านไผ่ ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นภาพวาดด้วยสีธรรมาชาติ ซึ่งมีอายุนานมาแล้วประมาณ 100 ปี  

– ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่นประวัติความเป็นมา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2537ได้อนุมัติให้กรมการศึกษานอกโรงเรียน ในสมัยนั้น (ปัจจุบัน คือ สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน) จัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัด ให้ครบทุกเขตการศึกษาทั้ง 12 เขต เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเขตการศึกษา 9 กรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้อนุมัติให้จัดสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่น โดยใช้สถานที่ก่อสร้างที่บริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์ ติดถนนมิตรภาพ กม.ที่ 44-45 ในเขตเทศบาลเมืองบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น บนเนื้อที่ 51 ไร่ 3 งาน 99.6 ตารางวา ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหลังแรก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540ได้รับประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2542 เป็นต้นมาปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาขอนแก่น เป็นสถานศึกษาส่วนกลาง สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 6 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร หนองบัวลำภู และขอนแก่น

ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

1. สถานบริการและสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว

– สถานบริการตามกฎหมาย จำนวน  3 แห่ง              
– ร้านจำหน่ายสุราและอื่นๆ ในพื้นที่ จำนวน 26 แห่ง  
– ร้านอาหารและจำหน่ายเครื่องดื่ม  จำนวน 10 แห่ง

2. โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท

– โรงแรมขนาดกลาง มีห้องพักตั้งแต่ 20-50 ห้องจำนวน 10 แห่ง        
-โรงแรมหรือรีสอร์ทขนาดเล็ก  มีห้องพักไม่เกิน 20 ห้อง จำนวน 15 แห่ง                     
– โฮมสเตย์ จำนวน 5 แห่ง                

3. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 

– ภัตตาคาร จำนวน 2 แห่ง                 
 – ร้านอาหาร จำนวน 12 แห่ง