ที่มา

“เมือง” ได้ถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศด้วย เช่นเดียวกับ “เมืองอัจฉริยะ (smart city)” ที่รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกกำลังตระหนักต่ออิทธิพลและความสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการระหว่างคน เมือง และเทคโนโลยี ให้เกิดการพัฒนาอย่างอัจฉริยะและสมดุลใน 7 ด้าน อันประกอบด้วยด้านเศรษฐกิจ (economy) สิ่งแวดล้อม (environment) การศึกษา (education) การดำรงชีพ (living) การจัดการภาครัฐ (governance) การจัดการพลังงาน (energy) และการคมนาคมขนส่ง (mobility) ซึ่งการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ให้มีความอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์แบบจนกลายเป็น “เมืองอัจฉริยะ” จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองให้ทันยุค ทันสมัยและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของโลกได้เป็นอย่างดี

กลไกความร่วมมือระดับเมืองที่มีอยู่ในเมืองขอนแก่นมีโครงสร้างการขับเคลื่อนเมืองที่เหนียวแน่นจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) รวมถึงสภาเมืองขอนแก่น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นกลไกความร่วมมือระดับพื้นที่ที่เป็นจุดแข็งของเมืองขอนแก่น ซึ่งมีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความสำคัญก็คือว่า เมืองขอนแก่นจะสามารถใช้ประโยชน์หรือบูรณาการความร่วมมือที่มีอยู่ในเมืองเหล่านี้ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของประชาชน (Local Learning) ตลอดจนเชื่อมโยงกลไกความร่วมมือและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นที่อุดมไปด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาชนและภาคีต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในเมืองขอนแก่นให้สมบูรณ์ได้อย่างไร เพื่อให้เมืองขอนแก่นก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ที่ภูมิปัญญาของคนขอนแก่นถูกนำมาใช้โดยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล ทำการผสานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน สร้าง KGO เป็น Utility Token พื้นฐานให้กับทั้ง Ecosystem ของเมืองทั้งที่เป็นกายภาพและ Virtual และใช้ได้ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง รวมถึงการสร้าง Virtual Income โดยการระดมทุนตั้ง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้น

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาสู่การพัฒนาโครงการวิจัย “ขอนแก่น: สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)