เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอชนบท

ประวัติเมืองชลบถ (อำเภอชนบท)

พ.ศ.2326  ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพียเมืองแสน (ท้าวคำพา) สมุหกลาโหมแห่งเมืองสุวรรณภูมิ อพยพครอบครัวและสมัครพรรคพวกมาพักอยู่บ้านหนองกองแก้ว ซึ่งมีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านชื่อ “หนองกองแก้ว”  และสมัครเข้ารับราชการกับเจ้าพระยานครราชสีมา ทำความดีความชอบเป็นที่พอพระราชหฤทัยจน พ.ศ. 2335  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ เพียเมืองแสน เป็นเจ้าเมืองตำแหน่งพระจันทรประเทศ และยกฐานะบ้านหนองกองแก้ว ขึ้นเป็นเมืองพระราชทานนามว่า เมือง”ชลบถ”พ.ศ. 2433  ได้มีการจัดหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตมณฑล ในสมัยรัชกาลที่ 5  แรกขนานนามลาวพุงดำว่า มณฑลลาวเฉียง ขนานนามหัวเมืองลาวพุงขาวว่า มณฑลลาวพวน ต่อมาเปลี่ยนการปกครองราชอาณาเขตมาตั้งแต่  พ.ศ. 2435 มณฑลพายัพกับมณฑลอุดร และมณฑลอีสานเป็นเมืองลาว เรียกชาวมณฑลพายัพว่า “ลาวพุงดำ”  เรียกชาวมณฑลอุดรและอิสานว่า “ลาวพุงขาว”

พ.ศ. 2442  เมืองมีการเปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวน เป็นมณฑลฝ่ายเหนือและเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดร

พ.ศ. 2447  ไทยได้จัดแบ่งการปกครองเป็นบริเวณ คือ จัดให้เมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กันรวมเป็นกลุ่ม ให้เมืองที่มีประชากรหนาแน่นเป็นที่ตั้ง  เมืองชลบถจึงถูกตัดออกมากับบริเวณพาชี  อันประกอบด้วย  เมืองขอนแก่น เมืองชลบถ  และเมืองภูเวียง  เมืองขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่จึงได้เป็นที่ตั้งบริเวณพาชี

พ.ศ. 2450  มีการเปลี่ยนแปลงเขตบริเวณพาชี  เมืองชลบถถูกยุบลงมาเป็นอำเภอ พระศรีชนะบาล เจ้าเมืองปรับลงเป็นนายอำเภอ  ขึ้นตรงต่อเมืองขอนแก่น พ.ศ.  2459 ประกาศเป็นอำเภอชนบท  อย่างเป็นทางการเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค  ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พุทธศักราช 2457  ขึ้นกับจังหวัดขอนแก่น

จนกระทั่งวันที่   1 กุมภาพันธ์   2490  ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอชนบท  ขึ้นอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน  ชนบท  เป็นคำนามแปลว่า  บ้านนอก (ไม่พัฒนา)    ชลบถ  เป็นคำผสมระหว่าง ชล เป็นคำนำนามแปลว่า น้ำ กับ  บถ  เป็น คำนาม  แปลว่า  ทาง  แปลรวกันได้ความว่า  “ทางน้ำ”  ดังนั้น หากอาศัยหลักทางวิชาการ “ภูมินามวิทยา” (Toponymy) และหลักภูมิรัฐศาสตร์ (Geo – Political Sciences)  ซึ่งเป็นศาสตร์ค้นคว้าเกี่ยวกับการตั้งชื่อถิ่นฐานบ้านเมืองตามทำเลที่ตั้ง  ชลบถ จึงน่าจะเป็นคำที่ถูกต้องว่า ชนบท เมืองชลบท  หรืออำเภอชนบทมีทำเนียบผู้ปกครองมาแล้วดังต่อไปนี้

          –  มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง                    5        คน

          –  มีข้าหลวงเมืองเป็นผู้ปกครอง              3        คน

          –  มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครอง                 40        คน

          –  ปัจจุบันนายอำเภอชนบท  คือ  นายศักดิ์ดา  ต้นคชสาร