เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอภูเวียง
ประวัติความเป็นมา
ภูเวียงเมืองเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี โดยจะเห็นได้ว่าเมื่อแรกตั้ง จังหวัดขอนแก่นมีเมืองอยู่เพียง 3 เมืองเท่านั้น คือ เมืองชลบถ เมืองภูเวียง และเมืองขอนแก่น และโดยที่เมืองภูเวียงเป็นเมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตก คนทั้งหลายมักจะเรียกเมืองภูเวียงว่าเป็น “หัวเมืองเอกฝ่ายตะวันตก” ตามประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคของอำเภอภูเวียง ปรากฏว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 มีพรานป่าคนหนึ่ง ชื่อ สิงห์ ภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็น “กวนทิพย์มนตรี” ได้ไปล่าเนื้อในเขาภูเวียง กวนทิพย์มนตรี เดิมอยู่บ้านข่าเชียงพิณ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้เห็นในวงเขาภูเวียงเป็นที่ราบ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์เป็นทำเลเหมาะสมแก่การทำมาหากินจึงได้ชักชวนพี่น้องเข้าไปตั้งหลักฐานบ้านเรือนครั้งแรกอพยพไปประมาณ 10 ครอบครัวไปตั้งบ้านบริเวณ “ด่านช้างชุม” เพราะที่ตรงนั้นมีโขลงช้างป่ามารวมกันมาก คือบ้านเมืองเก่าปัจจุบัน
ขณะนั้นพื้นแผ่นดินภูเวียงขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชของประเทศไทย เมื่อกวนทิพย์มนตรีไปตั้งบ้านเรือน ณ ดังกล่าวและต่อมามีประชาชนเมืองยโสธร นครจำปาศักดิ์ และนครเวียงจันทร์เข้าไปอยู่จำนวนมากบ้านเมืองก็ขยายออกไปหลายหมู่บ้าน ทางเจ้าเมืองเวียงจันทร์ได้แต่งตั้งให้ กวนทิพย์มนตรีเป็น เจ้าเมืองภูเวียง ส่งผ้าขาวเป็นเครื่องบรรณาการแก่เมืองเวียงจันทร์ ต่อมากวนทิพย์มนตรีถึงแก่กรรม ท้าวศรีสุทอน้องชายเป็นเจ้าเมืองแทนในระหว่างนั้น พระวอ พระตาเป็นกบฏต่อเจ้าเมืองผู้ครองนครเวียงจันทร์และหลบตัวมาอยู่ในเมืองโกมุทไสย์ (อำเภอหนองบัวลำภู) ต่อมาเจ้านครเวียงจันทร์สั่งให้จับพระวอพระตา พระวอพระตารู้ตัวก่อนจึงได้หลบหนี ไปอยู่ดอนมดแดง แขวงเมืองอุบลราชธานี เจ้านครเวียงจันทร์ สั่งให้แม่ทัพคุมทหารติดตามไปจับพระวอพระตาประหารชีวิต ความทราบถึงพระเจ้าตากสินทรงพิโรธ เห็นว่าเจ้านครเวียงจันทร์ดูหมิ่นพระเดชานุภาพ และรุกล้ำแดนไทยจึงสั่งให้พระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จกรมพระราชวังบวร) สองพี่น้องยกทัพไปปราบเจ้านครเวียงจันทร์ ปรากฏว่าพระยาจักรีตีนครเวียงจันทร์แตก เข้ายึดนครเวียงจันทร์ และเมืองหลวงพระบางไว้ได้
ต่อมาท้าวศรีสุธอ เจ้าเมืองภูเวียง ซึ่งอยู่ในความปกครองของเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ไหวทันจึงยอมอ่อนน้อมต่อพระจักรี พระยาจักรีจึงสั่งให้ท้าวศรีสุธอกลับไปเป็นเจ้าเมืองภูเวียงดังเดิม และให้ขึ้นกับเจ้าเมืองหนองคายซึ่งเป็นเมืองใหญ่ ท้าวศรีสุธอถึงแก่กรรมทางราชการได้แต่งตั้งเจ้าเมืองต่อจากท้าวศรีสุธอ ต่อมาอีก 2 คน เมื่อท้าวศรีสุธอ ที่ 3 ถึงแก่กรรม หลวงสุทธิไกร (นามเดิมไม่ปรากฏ) เป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อหลวงสิทธิไกรถึงแก่กรรม พระศรีธงชัย เป็นเจ้าเมืองแทน เมื่อพระศรีธงชัยถึงแก่กรรม ข้าหลวงจันทร์มา ซึ่งส่งมาจากหนองคายเป็น เจ้าเมืองแล้วจึงยุบภูเวียงเป็นอำเภอ ขึ้นกับเมืองขอนแก่นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2369 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวตรงกับหนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาค 4 เรื่อง พงศาวดารหัวเมือง มณฑลอีสาน ซึ่งระบุไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับประมาณ ปี พ.ศ.2369 โปรดให้ตั้งเมืองภูเวียง ซ้ำเดิมเคยเป็นเมืองโบราณ เป็นเมืองภูเวียง ขึ้นกับเมืองขอนแก่น ในเวลาต่อมาได้มีการเปลี่ยน คำว่า เมืองภูเวียง เป็น อำเภอภูเวียง คำว่า“อำเภอภูเวียง” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2445 ตรงกับ รศ.121 มีพระยาประสิทธิ์สรรพากร (สีหไกรฯ) เป็นนายอำเภอคนแรก
สุดยอดผลิตภัณฑ์
1.ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม หมู่ที่ 10 และ หมู่ที่ 12 ตำบลนาชุมแสง
2.โคมไฟจากกะลามะพร้าว กลุ่มกะลาเวียงดิน หมู่ที่ 16 ตำบลหนองกุงธนสาร
3.ผ้าฝ้ายมัดหมี่ลายผีเสื้อของกลุ่มหัตถกรรมของฝากภูเวียง หมู่ที่ 3 ตำบลภูเวียง
4.กระเป๋าสานจากเส้นพลาสติก ของ กลุ่มจักสานพลาสติก ตำบลกุดขอนแก่น
5.ผลิตภัณฑ์การแปรรูปปลา บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 4 ตำบลหว้าทอง และ บ้านกุดดุก หมู่ที่ 3 ตำบลดินดำ
สินค้าสร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP คือ ผ้าฝ้ายทอมือและปลาส้ม
พื้นที่ Khon kaen Smart City (ระยะที่ 1) ในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่ามีฟอสซิลไดโนเสาร์ จังหวัดขอนแก่นยกให้เป็นอุทยานธรณีวิทยา ระดับประเทศ จังหวัดมีการขับเคลื่อนผลักดันอุทยานธรณีขอนแก่นให้มีความก้าวหน้าสู่อุทยานธรณีระดับประเทศและระดับโลก โดยได้ประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมดำเนินการ ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้
สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอภูเวียง ได้แก่
1. ปากช่องภูเวียง (ศาลเจ้าจอมปากช่อง) ตำบลภูเวียง ตั้งอยู่ที่ตำบลภูเวียง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพระยานรินทร์แม่ทัพเอกฝ่ายลาวซึ่งถูกประหารชีวิตเพราะไม่ยอมสวามิภักดิ์มาขึ้นต่อฝ่ายไทย แม้พ่ายแพ้ในการศึกและถูกจับเป็นเชลย แม่ทัพไทนเกิดความชื่นชมในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของพระยานรินทร์ จึงได้สร้างศาลเจ้าจอมนรินทร์ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงความกล้าหาญ ปัจจุบันศาลเจ้าจอมนรินทร์ตั้งอยู่บริเวณปากช่องเจ้าจอมซึ่งเป็นทางเข้าออกทางเดียวของอำเภอเวียงเก่า
2. หาดพัทยา 2 ตำบลหนองกุงเซิน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุงเซิน หมู่ที่ 1 ตำบลหนองกุงเซิน อำเภอภูเวียง เป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบประมาณ 20 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับเขื่อนอุบลรัตน์ มีชายหาดและกิจกรรมทางน้ำ เช่น เรือถีบ ห่วงยาง
3. หาดสวรรค์และหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตำบลนาหว้าหาดสวรรค์และหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาหว้า อำเภอภูเวียง เป็นพื้นริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เนื้อที่ประมาณ 62 ไร่ เป็นหาดทรายน้ำจืดมีธรรมชาติคล้ายหาดทรายริมทะเลสามารถใช้พักผ่อนหย่อนใจ ตั้งแคมป์ ในพื้นที่ยังมีหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยเกิดจากการร่วมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่สืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ในการเก็บรักษาวิถีดั้งเดิมของการเลี้ยงควายเพื่อใช้ในงานเกษตร
4. หมู่บ้านเกาะกุดหิน ตำบลหว้าทอง เป็นหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง เป็นเกาะแห่งเดียวของจังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ การเดินทางจะใช้เรือเป็นหลัก เป็นแหล่งอาหารประเภทปลาน้ำจืด
5. วัดป่ากิตติญานุสรณ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านท่าเสี้ยว หมู่ที่ 2 ตำบลสงเปือย อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นเป็นวัดใหญ่ที่มีบรรยากาศร่มรื่นด้วยต้นไผ่ รายล้อมวัด มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่และได้มีการสร้าง พระบรมสารีริกธาตุเป็นองค์ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีความยาว 45 เมตร และได้มีการสร้างวิวทิวทัศน์ให้เหมือนสมัยโบราณ มีประตูไม้แต่สลัก รูปปั้นโบราณและพญานาคที่สวยงาม
6. ศาลหลักเมืองภูเวียง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่อำเภอภูเวียง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตรใจของชาวอำเภอภูเวียง เป็นเคารพสักกราะกราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล
7. วัดแก้วจักรพรรดิสิริสุทธาวาส ตำบลกุดขอนแก่น ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองโพนน้อย หมู่ที่ 7 ตำบลกุดขอนแก่น อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ”วัดแก้วจักรพรรดิสิริสุทธาวาส” ดินแดนสีขาวนาคราชบำเพ็ญธรรม เชื่อว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีดวงจิตนาคราชแห่งการบำเพ็ญดวงจิตสีขาวสถิตย์อยู่ มีเสาหลักเมืองบาดาลเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภพภูมิ เพื่อให้เหล่าลูกหลาน ได้มาขอพร ขอโชคลาภ เบิกทรัพย์สมบัติ