ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ เตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวประสบการณ์ใหม่ “เมืองไหมชนบท” ต้น มกราคม 2568
นายอำเภอชนบทพร้อมหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐและเอกชน ระดมสมองเตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวประสบการณ์ใหม่ ประเดิมการโปรโมตเพื่อขายนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลไหมชนบท ต้นเดือน ม.ค.68 นี้ โดยเน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวเมืองผ้าไหมและเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมครบวงจรและลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้ยา
ที่ห้องประชุมศาลาไหมไทย อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น เป็นประธานการประชุมหารือและคัดเลือกเส้นทางท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่เมืองไหมชนบท มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้ประกอบการร้านค้าผ้าไหมเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีโครงการวิจัย ”การยกระดับและขับเคลื่อนขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ชาญฉลาด สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก” โดยบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด สนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริม ววน. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อขับเคลื่อน ”ขอนแก่น” สมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO (Khon Kaen : Membership of UNESCO Global Network of Learning Cities) เป็นองค์กรร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ
โดยมีการบรรยายพิเศษวิธีการเป็นเจ้าบ้านที่ดี โดย นางสุมาลี สุวรรณกร ประธานเครือข่าย สื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน และ อาจารย์ วนิดา อ่อนละมัย อาจารย์ประจำวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุมขอนแก่น
นายปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอชนบท กล่าวว่า อำเภอชนบทเป็นอำเภอเก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่น มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เดิมชื่อเมืองชลบทวิบูลย์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นอำเภอชนบทในปัจจุบัน โดยมีสินค้าที่สร้างชื่อเป็นหน้าเป็นตาของชาวชนบทคือผ้าไหม มีลวดลายสวยงามกว่า 300 ลาย แต่หลังจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจผ้าไหมซบเซาลง เดิมเคยขายได้ มีรายได้จุนเจือครอบครัว แต่ปัจจุบันขายได้น้อยลง เพราะนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการผ้าไหมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะถนนสายไหมที่อยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอชนบท มีลูกค้ามาเลือกซื้อผ้าไหมลดลงไปอย่างมาก
“โชคดีที่ทางโครงการวิจัยขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Khonkaen Learning City ได้มาหารือกับอำเภอเพื่อจัดทำการวิจัยเรื่องการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว แต่ดึงอัตลักษณ์ของอำเภอคือผ้าไหม และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้ามาสู่กระบวนการท่องเที่ยว”นายปิยะพงษ์กล่าวและว่า
โดยวันนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อจัดทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแบบ One day trip และ 2 วัน 1 คืน โดยถ้าหากเป็นเที่ยวแบบไป-กลับ วันเดียวได้คัดเลือกเส้นทางคือ เริ่มต้นที่ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์หลักเมือง จากนั้นเดินทางไปต่อที่วัดบึงแก้ว ซึ่งมีโบสถ์เก่าแบบปูนปั้นอายุกว่า 120 ปี ต่อด้วยศาลาไหมไทย ก่อนจะแวะรับประทานอาหารเมนูพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหลามปลาจากกระบอกไม้ไผ่ ก้อยหอยเชอรี่สีทอง ยำดักแด้ ต้มไก่บ้านใบมะขามอ่อน ข้าวฮางงอก ชิมไวน์ใบหม่อน เป็นต้น สัมผัสประสบการณ์การทอผ้า เลี้ยงไหม สาวไหม ทอผ้า จากครูช่างศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการเชิดชูจาก Sacit สุภาณี ภูแล่นกี่ ประธานกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย แวะซื้อของฝากจากผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ชุดผ้าไหมสำเร็จรูปและสั่งตัด บนถนนสายไหมความยาวกว่า 900 เมตร
สำหรับการจัดเส้นทางท่องเที่ยวประสบการณ์ใหม่ของอำเภอชนบทดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการและเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมในช่วงการจัดงานเทศกาลไหมของอำเภอชนบทระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม 2568 สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ พัฒนาการอำเภอชนบท
กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
- ดัน 4 ชุมชนนครขอนแก่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมือง
- ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ เตรียมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวประสบการณ์ใหม่ “เมืองไหมชนบท” ต้น มกราคม 2568
- พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น
- “ขอนแก่น” ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO กับ 62 ภาคีเครือข่าย