“ขอนแก่น” ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO กับ 62 ภาคีเครือข่าย


“ขอนแก่น” ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO กับ 62 ภาคีเครือข่าย มุ่งสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมาย SDGs

วันที่ 17 กันยายน 2567 ณ โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด ขอนแก่น, ขอนแก่นจัดงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO โดยมี 62 หน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เข้าร่วมผนึกกำลังในการขับเคลื่อน “ขอนแก่น” ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก ภายใต้การสนับสนุนจาก UNESCO Global Network of Learning Cities


จัดขึ้นหลังจากที่จังหวัดขอนแก่นได้รับการรับรองเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกของ UNESCO เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม นำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายศิริวัฒน์ พินิจพาณิชย์ นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น และนายกังวาน เหล่าวิโรจนกุล หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. (บพท.) และ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำโครงการ “การยกระดับและขับเคลื่อนขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ชาญฉลาด สู่เมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลก”


การลงนามในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายกว่า 59 หน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานต่างแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองผ่านการเรียนรู้ ทั้งนี้ การดำเนินงานจะเน้นการบูรณาการทรัพยากรจากแต่ละหน่วยงานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการพัฒนาคน ชุมชน และเมืองขอนแก่นอย่างยั่งยืน

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของขอนแก่นครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องถึง 10 จาก 17 ข้อ เช่น การศึกษาอย่างมีคุณภาพ (SDG 4) การสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8) และการลดความเหลื่อมล้ำ (SDG 10) ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนในระดับสากล

โครงการขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นโครงการที่รวบรวมทรัพยากรและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของประชาชนในจังหวัด การดำเนินงานดังกล่าวไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อชุมชนและคนในท้องถิ่น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียงของขอนแก่นในเวทีนานาชาติในฐานะเมืองแห่งการเรียนรู้ด้วย


กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง