kKTT ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนจากวิสาหกิจเพื่อชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม“เที่ยวสาวะถีวิถีสุข” เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนผ่านผู้คนอย่างยั่งยืน
“KKTT” ร่วมเรียนรู้การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนจากวิสาหกิจเพื่อชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมผ่าน “เที่ยวสาวะถีวิถีสุข”
บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนจากวิสาหกิจเพื่อชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม ณ วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีตัวแทนจากเทศบาลเมืองศิลา ชาวบ้านในชุมชนศิลา คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ โดยมีการพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมไปถึงการนำเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาจากแหล่งเรียนรู้และผู้คนในชุมชน “เที่ยวสาวะถีวิถีสุข” เป็นการเรียนรู้ผ่านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ต่อยอดภูมิปัญญาสู่ผลิตภัณฑ์และสินค้าจากชุมชน
ผู้เข้าร่วมได้เดินชมโบสถ์หรือสิม ที่มีอายุกว่าร้อยปีเศษ ภายในวัดเก่าแก่ที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ภายในชุมชนสาวะถี เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ โบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ด้านในโบสถ์มีการเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่อง สินไซ (สังข์ศิลป์ชัย) ด้านในโบสถ์นั้นห้ามสุภาพสตรีเข้า ส่วนด้านนอกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนรกเจ็ดขุม พระเวสสันดรชาดก สินไซ โบสถ์แห่งนี้แสดงถึงประวัติศาสตร์ชุมชนที่ส่งต่อผ่านสถาปัตยกรรมและ “ฮูปแต้ม”
ลอง “เที่ยวสาวะถีวิถีสุข” “สาคูสังข์สินไซ” อัตลักษณ์ผ่านเมนูอาหารจากพืชท้องถิ่น
นำเสนอ “สาคูสังข์สินไซ” เมนูของหวานจากชุมชน สะท้อนอัตลักษณ์ผ่านสีม่วงอมน้ำเงินของสาคูที่มาจากพืชท้องถิ่นอย่างอัญชัน ทานคู่กับนำอัญชันแก้ดับกระหาย อีกทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านสาวะถี เช่น ผ้าคลุมไหล่ แก้วกาแฟรูปสินไซ กระเป๋าผ้ารวมถึงสินค้าอื่น ๆ และได้พูดคุยเกี่ยวกับ “เที่ยวสาวะถีวิถีสุข” โครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม สื่อศิลป์SE ว่ามีจุดเริ่มต้นและการดำเนินการรวมถึงผลจากการดำเนินงานตลอดมาจนสามารถได้รับรางวัลวิสาหกิจเพื่อสังคมดีเด่นในปี 2566
การนำเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปที่กลุ่มอาชีพแม่บ้าน หมู่ 21 ไปดูการปิ้ง “ข้าวเขียบ” หรือ “ข้าวโป่ง” ทาแจ่วบองสูตรพื้นถิ่นชูรสชาติเปลี่ยนข้าวเขียบที่เคยเป็นของหวานให้กลายเป็นของคาวได้อย่างลงตัว จากนั้นได้มีการนำไปที่ พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสาวะถี โรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์ เดิมเคยเป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์ หลังจากที่นักเรียนลดน้อยลงจึงมีการเปลี่ยนอาคารนี้ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และนำสิ่งของที่ชาวบ้านนำของเก่าที่มีอยู่ของตนมาบริจาคให้เพื่อมีส่วนร่วมให้การพัฒนาชุมชน สิ่งของที่นำมาจัดแสดงนั้นเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ของชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ห้อง ห้องแรกเป็นห้องที่บอกเล่าขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน มีแบบจำลองของ “สิม” หรือโบสถ์ ของวัดไชยศรี ที่มีรายละเอียดของ “ฮูปแต้ม” ที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมี “หุ่นกระติ๊บข้าว” ที่ใช้ในการแสดงหมอลำหุ่นสินไซน้อย 100 ปี
ห้องที่สองและสาม เป็นห้องที่จัดแสดงเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรี อาทิเช่น เตารีด ลูกคิด ระนาด หม้อ ไห ต่าง ๆ มาจากการบริจาคที่บ่งบอกวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนสาวะถี แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงหมอลำหุ่นสินไซน้อย และวัฒนธรรมภายในชุมชน ภายในห้องมีการแขวน “ทุง” หรือ “ตุง” ใยแมงมุมที่ทำมาจากเส้นฝ้าย สะท้อนความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ความเชื่อหลังความตายของคนภาคอีสาน รวมถึงการแสดง “หมอลำหุ่นสินไซน้อย 100 ปี จากนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์
กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
- โครงการขับเคลื่อนและร่วมกันฟื้นฟูย่าน ถึงการใช้เทคโนโลยีด้าน blockchain cryptocurrency
- ขอนแก่นเมืองแห่งการเรียนรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนกับโครงการพัฒนาเมืองเชิงบูรณาการเพื่อการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ และการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- โครงการ MOVE MAPTAPHUT เทศบาลเมืองมาบตาพุต จังหวัดระยองเข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการเมืองอัจฉริยะ Smart City Operation Center (SCOPC)
- โครงการอบรมสัมมนาแกนนำขับเคลื่อนชุมชน ( MOVE MAPTAPHUT ) เทศบาลเมืองมาบตาพุต จังหวัดระยอง