เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอพระยืน
ประวัติความเป็นมาของอำเภอพระยืน
เดิมอำเภอพระยืน อยู่ในเขตปกครองอำเภอเมืองขอนแก่น ได้แยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อพ.ศ. 2519 และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2531 ซึ่งอำเภอพระยืน มีที่มาจากชื่อของหลวงพ่อพระยืน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาว่าหลวงพ่อพระยืน เป็นพระพุทธรูปศิลาทั้ง 2 องค์ ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ในราวพุทธศตวรรษที่16-18) องค์ที่ 1 เรียกว่า หลวงพ่อพระยืนตะวันออก ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อยู่ในเขตของโรงเรียนชุมชนบ้านพระยืน เรียกว่า “เหล่าตะวันออก” องค์ที่ 2 ประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เรียกบริเวณนี้ว่า “เหล่าตะวันตก”
มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา เกี่ยวกับการค้นพบพระพุทธรูปศิลาทั้ง 2 องค์นี้ว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ เจ้าเมืองชนบท ได้นำไพร่พลทหารไปคล้องช้างที่เมืองหล่มสักได้มาพักแรมที่หนองน้ำแห่งหนึ่ง ได้นิมิตว่าเห็นดวงแก้ว 2 ดวง มีแสงสว่างสวยงามมาก มีลักษณะคล้ายลูกไฟกลมโตลอยขึ้นจากทางทิศตะวันออก โค้งไปทางทิศตะวันตก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ ได้สั่งให้ พลทหารตระเวณค้นไปหาทางทิศตะวันออก ได้พบพระพุทธรูปประทับยืน โผล่ขึ้นมาจากดิน และเมื่อค้นไปหาทางทิศตะวันตก พบพระพุทธรูปปางนั่ง พระยาธรรมศักดิ์ ได้ให้ทหารสร้างศาลาให้ประทับ เมื่อเดินทางไปคล้องช้างที่เมืองหล่มสักและเดินทางกลับเมืองชนบทแล้ว ได้โปรดให้พระยาตรีศักดิ์ และนางทองคำ มาสร้างบ้านเมืองอยู่ที่หนองน้ำที่ค้นพบเมื่อประมาณ ร.ศ. 81 (พ.ศ. 2406) เพื่อให้เป็นเมืองฝ่ายขวาเพราะเห็นว่ามีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์และตั้งชื่อบ้านเมืองนั้นว่า “บ้านพระยืน”
หลักฐานปัจจุบัน มีศิลาจารึกใต้ฐานพระ ความว่า วันที่ 17 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ( พ.ศ. 2435) ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน มาระงับทุกข์สุขหัวเมืองน้อยใหญ่เขตแดนเมืองขอนแก่นให้เรียบร้อย มีความสุขความเจริญต่อไป ข้าพเจ้ารับสั่งแล้วจึงมาระงับทุกข์สุขเพื่อกรมการ แลราษฎรในเขตแขวงเมืองขอนแก่นตามรับสั่ง
ครั้น ณ วันที่ 25 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 111 มีพวกอ้ายคิดมิชอบซ่องสุมพากันเข้าไปเรียนรีดศาสนาเยซูต่อบาทหลวงคาธอลิกกันมาทำลายพระพุทธรูปศิลาทั้งสองพระองค์ให้แตกหักเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่แล้วพากันขุดหาทรัพย์สินในดิน จับได้พวกอ้ายคิดมิชอบมาลงโทษแล้วบอกหมื่นทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวพวน ขึ้นไปเมืองหนองคายให้ทรงทราบฝ่าพระบาทแล้วโปรดกระหม่อมให้ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปศิลาให้เรียบร้อยดีดังเก่า โปรดให้ปลูกเรือนกันแดดกันฝนอย่าให้เป็นอันตรายต่อไปได้ ข้าพเจ้ารับสั่งแล้วจึงจ้างให้เอาปูนประสมน้ำเชื้อไปพรมพระพุทธรูปศิลาที่อ้ายพวกคิดมิชอบทุบทำลายเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่นั้น ให้แน่นหนาเรียบร้อยดังเก่า ข้าพเจ้าได้ให้เมืองแสน ว่าที่ราชบุตรเมืองชนบทไปเป็นผู้กำกับเร่งทำการให้เรียบร้อยโดยเร็ว
ครั้น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 การปฏิรูปสังขรณ์พระพุทธรูปจึงแล้วเสร็จ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยหลวงสิทธิสราวุธ ข้าหลวงเมืองชนบท นายกิจการีข้าหลวงเมืองขอนแก่น ท้าวเพียกรมการ แลราษฎร ไทย จีน ลาว มีศรัทธาจากบ้านทุ่ม ตั้งการสมโภชพระพุทธรูปศิลาทั้งสองพระองค์ แล้วมีการละเล่นต่างๆ ฉลองวันหนึ่ง การปฏิสังขรณ์และการสมโภชพระพุทธรูปศิลาทั้งสองก็สำเร็จในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ 111 จึงได้จารึกไว้ในแผ่นศิลา หวังจะให้คนทั้งปวงได้ทราบทั่วกันต่อไปภายหน้า สิ้นกาลนาน ปัจจุบันชาวอำเภอพระยืน ได้ถือเอาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นงานสมโภชเฉลิมฉลองประจำปีตลอดมา
คำขวัญอำเภอพระยืน
“พระยืนคู่เมือง ลือเลื่องเสื่อไทย ผ้าไหมกันสาด สมเด็จอาจพุฒาจารย์ แลสราญแก่งกุดโดก”
พระยืนคู่เมือง หมายถึง หลวงพ่อพระยืนเป็นพระพุทธรูปศิลาทั้ง 2 องค์เป็นพระพุทธรูปที่ชาวอำเภอพระยืนให้ความเคารพศรัทธามาแต่โบราณ
ลือเลื่องเสื่อไทย หมายถึง ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว เป็นวิสาหกิจชุมชนของอำเภอผลิตและจำหน่ายเสื่อ ซึ่งตั้งกลุ่มอยู่ในบ้านโต้น
ผ้าไหม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ชาวอำเภอพระยืนได้ทำมาตั้งแต่ดั้งเดิม มีอยู่ทั่วไปทุกตำบล
กันสาด หมายถึง ผ้ากันสาดเป็นสินค้าของประชาชน ในพื้นที่บ้านโนนบ่อ ตำบลพระยืน ซึ่งทำเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน
แลสราญแก่งกุดโดก หมายถึง แก่งที่อยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านโต้น เป็นที่กักเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันและในอนาคตจะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นสถานที่พักผ่อน และสวนสาธารณะ
สินค้า OTOP อำเภอพระยืน
กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโต้น ม.2 ตำบลบ้านโต้น ผลิตภัณฑ์เสื่อกก และเสื่อพลาสติก
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านดงกลาง ม.7 ตำบลบ้านโต้น ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
กลุ่มผักปลอดภัยหนองหญ้าข้าวนก ม.3 ตำบลหนองแวง ผลิตภัณฑ์พืชผักสวนครัวทุกชนิด
ปราชญ์ชุมชนอำเภอพระยืน
นางดาว พานโน อยู่บ้านเลขที่ 358 บ้านพระยืน หมู่ที่ 1 ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ด้านรำทรงเจ้า (รำผีฟ้า)