เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอเปือยน้อย

อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น

ประวัติอำเภอเปือยน้อย

แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอชนบทในปี 2457 มีการจัดตั้งอำเภอพล แยกจากอำเภอชนบท ตำบลเปือยน้อยได้ย้ายมาขึ้นกับอำเภอพล ต่อมาปี พ.ศ. 2482 มีการยกฐานะกิ่งอำเภอบ้านไผ่เป็นอำเภอบ้านไผ่ โดยแยกพื้นที่จากอำเภอชนบท ตำบลเปือยน้อยได้ย้ายมาขึ้นกับอำเภอบ้านไผ่ เพื่อความสะดวกในติดต่อราชการระหว่างตำบลกับอำเภอ และต่อมามีการจัดตั้งเป็น “กิ่งอำเภอเปือยน้อย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2520 โดยในระยะแรกมีเขตการปกครอง 2 ตำบล คือ ตำบลเปือยน้อยและตำบลวังม่วง ต่อมามีการยกฐานะเป็น อำเภอเปือยน้อย ตามพระราชกฤษฎีกาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 จึงจัดตั้งตำบลเพิ่มขึ้นปัจจุบันมี 4 ตำบล โดยอาคารที่ว่าการตั้งที่วัดธาตุกู่ทอง หมู่ที่ 7 ตำบลเปือยน้อย (ตลาดเทศบาลตำบลเปือยน้อยในปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2524 ได้รับงบปราณสร้างอาคารที่ว่าการหลังใหม่จึงได้ย้ายอาคารที่ว่าการมาอยู่ที่ 150 หมู่ที่ 1 ตำบลเปือยน้อย (ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานเทศบาลตำบลเปือยน้อย) และได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเปือยน้อย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีเขตการปกครอง 4 ตำบล 32 หมู่บ้าน พื้นที่ 173 ตารางกิโลเมตร หรือ 107,500 ไร่ สำหรับอาคารหลังปัจจุบันได้รับงบประมาณก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ.2544 และเปิดอาคารที่ว่าการอำเภอเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2545

คำขวัญ

เปือยน้อยเมืองปราสาทหิน  ถิ่นกำเนิดผูกเสี่ยว  เที่ยวงานบุญกู่  ไหว้ปู่อุปฮาด

ของดีอำเภอเปือยน้อย

ตำเมี่ยงสมุนไพร

ผ้าไหมบ้านโสกนาค

ข้าวแตนน้ำแตงโม

สถานที่ท่องเที่ยว

แหล่งโบราณคดีปราสาทหินเปือยน้อยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารบรรณาลัย 1 หลัง มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบต่อเชื่อมกับโคปุระ หรืออาคารประตูซุ้มทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ถัดออกมาด้านหน้ามีชาลาที่ยกระดับสูงกว่าเบื้องล่าง ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออก (อีกฟากถนน) มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า “สระวงษ์”

“ปราสาทเปือยน้อย หรือพระธาตุกู่ทอง” ถึงแม้จะเป็นปราสาทหินที่มีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับปราสาทหินพิมาย หรืออีกหลายแห่งที่พบทางอีสานตอนใต้ แต่ก็นับเป็นปราสาทเขมรที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง ปราสาทเปือยน้อยหรือชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุกู่ทอง สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบปาปวน และแบบนครวัด สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู แผนผังการก่อสร้างมีความหมายเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนจักรวาลอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าที่เรียกว่า “ศาสนบรรพต” สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณปราสาท เป็นไปตามแบบแผนของศาสนสถานขอมโบราณ หน้าบันขององค์ปรางค์ประธานสลักเป็นพญานาคราชมีลวดลายสวยงามมาก ทับหลังสลักเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่นับว่ายังในสภาพที่สมบูรณ์ “โคปุระ” (ซุ้มประตู) อยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ด้านข้างโคปุระเจาะเป็นช่องหน้าต่าง “กำแพงแก้ว” มีฐานเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีการสลักศิลาแลงเป็นร่องแบบลาดบัว ตั้งอยู่บ้านหัวขัว หมู่ที่ 1 ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อยจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่เป็นที่ให้ผู้คนเคารพสักการะ

ปราชญ์ชุมชน

          1. นายคำเล พระจันทร์ศรี (พ่อจ้ำ)

          2. นายบุญนาค แทนสอ (พ่อจ้ำ)

          3. นายหลวง ปิตาสังข์   (หมอพราหมณ์)

          4. นายอภิชาต เพิ่มทอง (หมอสูตร)

          5. นายสนธยา นามเสริฐ (พิธีการ)

          6. นางทองสุข มาโคตร  (มัดหมี่)

          7. นางฉวีวรรณ สมอบ้าน (หมอลำ)

          8. นางหาร หวานเหนือ (ถนอมอาหาร)

          9. นางแฉล้ม หล้าหาร (กระติ๊บข้าว)

          10. นางแว่น ภูศรี (กระติ๊บข้าว)

          11. นางวิจิตรา สิรินารถ (กระเป๋าผ้า)

          12. นางพูลศรี บัวระบัดทอง (หมอลำ)

          13. นายอำนาจ อัคลา (ดนตรีไทย)

          14. นางพิมพ์วรา เอื้ออภิวัฒน์ (นาฎศิลป์)

          15. นางอุมาพร สมอเขียว (หมอลำ)

          16. นายขุนศรี พระจันทร์ศรี (ลาบอีสาน)