เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภออุบลรัตน์

ประวัติความเป็นมา

อำเภออุบลรัตน์เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของของพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  มีเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นถัดจากเขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ตรงบริเวณที่เรียกว่า ‘พองหนีบ’ ตำบลโคกสูง อำเภอน้ำพอง (ปัจจุบันเป็นอำเภออุบลรัตน์) จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 50 กิโลเมตร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 ทรงพระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า “เขื่อนอุบลรัตน์” เขื่อนนี้สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า  และเพื่อใช้ในการเกษตร  รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา  เมื่อ พ.ศ.2517  กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ  โดยแยกออกจากอำเภอน้ำพอง  เนื่องจากประชากรอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย  การคมนาคม  ไม่สะดวก  ประกอบกับอำเภอน้ำพองมีอาณาเขตกว้างขวาง  เพื่อสะดวกในการปกครองดูแล และรักความสงบเรียบร้อย  มีประชากร 3 ตำบล  ได้แก่  ตำบลโคกสูง  ตำบลนาคำ  และตำบลบ้านดง  ขอแยกตัวแบ่งเขตการปกครองเป็น “กิ่งอำเภออุบลรัตน์”  ในเขตพื้นที่ 3 ตำบลดังกล่าว  โดยให้มีชื่อสอดคล้องกับชื่อเขื่อนอุบลรัตน์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ตั้งกิ่งอำเภอ  มีเนื้อที่การปกครองประมาณ 485 ตารางกิโลเมตร  ห่างจากจังหวัดขอนแก่นประมาณ 50 กิโลเมตร  ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม  2522  ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็น “อำเภออุบลรัตน์”  ได้รับการพัฒนา และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ปัจจุบันมีเขตการปกครอง 6 ตำบล 71  หมู่บ้าน

ของดีอำเภออุบลรัตน์

1.ปลาส้มและผลิตภัณฑ์จากปลาน้ำจืด

2.ผ้าฝ้ายและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าฝ้าย

3.ผลิตผ้าฝ้ายพิมพ์ลายธรรมชาติ

4.ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากไม้ไผ่

5.ผ้าไหม

สถานที่ท่องเที่ยว         

1.อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  เช่น การชมทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนฯ

2.หาดบางแสนสอง อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ ๓ ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น

3.อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ (อยู่ระหว่างอำเภออุบลรัตน์ และ อำเภอโนนสัง และอุทยานแห่งชาติน้ำพอง เชื่อมต่อระหว่างอำเภออุบลรัตน์และอำเภอหนองเรือ)

4.หลวงพ่อขาว (พระใหญ่) วัดพระบาทภูพานคำ ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ พระพุทธรูปสีขาว องค์ใหญ่ปางประทานพร  ขนาดหน้าตักกว้าง  18  เมตร  สูง 40 เมตร  ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ฐานองค์พระพุทธรูปด้านทิศตะวันตกจะมองเห็นทิวทัศน์ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ที่งดงาม  และด้านทิศตะวันออกจะมองเห็นเมืองอุบลรัตน์  และหมู่บ้านต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงภูเขาสวนกวาง  อำเภอเขาสวนกวาง  ภายใต้แท่นพระพุทธรูปเป็นอุโบสถ จากพื้นราบขึ้นไปสู่องค์พระพุทธรูปมีถนนคอนกรีตยาว 515 เมตร มีบันไดเดินเท้าแยกต่างหาก 1049 ขั้น ระหว่างทางเดินเท้ามีพระพุทธรูปไสยาสน์และรอยพระพุทธบาทภูพานคำ

5.ถ้ำผาเจาะ วัดเขื่อนอุบลรัตน์ (วัดท่าเรือ)

6.สะพานหินธรรมชาติ   เป็นสะพานหินที่เกิดจากการกัดเซาะหินทรายโดยลมและน้ำตัวสะพานมีความยาวทั้งสิ้น 12 เมตร ตัวสะพานสูงจากพื้นดิน 2.5 เมตร และโครงสร้างมีความยาวมากกว่า 100 เมตร ด้านใต้ของสะพานหินเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2511 ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขื่อนอุบลรัตน์ บ้านท่าเรือ หมู่ที่ 3 ตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร

7.สนามกอล์ฟโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เขื่อนอุบลรัตน์  อยู่ภายใน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  เขื่อนอุบลรัตน์ ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น  การเดินทางมายังจังหวัดขอนแก่น สามารถเดินทางได้โดยเครื่องบิน รถไฟ และรถยนต์ การเดินทางโดยรถยนต์โดยใช้เส้นทางถนนมิตรภาพจากกรุงเทพฯ มาถึงขอนแก่นระยะทางประมาณ 440 กิโลเมตร ระยะทางจากจังหวัดขอนแก่น ถึงเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 40 นาที

ปราชญ์ชุมชน

1.นายมาติน  วีลเลอร์ ปราชญ์ชาวบ้านสัญชาติอังกฤษ เลือกโบกมือลาประเทศบ้านเกิดมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรรมในประเทศไทย เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รู้ซึ้งถึงความพอดีในการใช้ชีวิต

2.นายถาวร สรรพ์สมบัติ ปราชญ์ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

3.นายดำ  สรรพ์สมบัติ ปราชญ์ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน (หมอธรรม หมอพราหมณ์)