เล่าเรื่องจังหวัดขอนแก่นผ่านภาพถ่ายอำเภอภูผาม่าน
ความเป็นมาของอำเภอ
เดิมอำเภอภูผาม่าน มีเขตการปกครองขึ้นอยู่กับอำเภอชุมแพแต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครองและความมั่นคง เนื่องจากตำบลโนนคอมซึ่งที่ตั้งกิ่งอำเภอภูผาม่าน อยู่ระหว่างรอยต่อ 4 จังหวัด ซึ่งพื้นที่เต็มไปด้วยภูเขา จึงมีลัทธิคอมมิวนิสต์แทรกซึมยากแก่การปราบปรามของรัฐบาล ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ.2521 พลโทเปรม ติณสูลานนท์ ยศในสมัยนั้น แม่ทัพภาคที่ 2 จึงได้ดำริว่าควรจะตั้งกิ่งอำเภอขึ้นเพื่อให้ง่ายแก่การบริการประชาชนและเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมืองการปกครอง
ต่อมาปี พ.ศ. 2523 นายอำเภอชุมแพ เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งกิ่งอำเภอ จึงแยกตำบลโนนคอมออกอีกหนึ่งตำบล คือ ตำบลนาฝาย นำเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทย คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศตั้งกิ่งอำเภอภูผาม่านเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2524 และเริ่มบริการประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2524 ทำพิธีเปิดที่ว่าการกิ่งอำเภอเมื่อ 14 ตุลาคม 2524 และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2537 ชื่ออำเภอภูผาม่าน มาจาก ชื่อภูเขา “ภูผาม่าน” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอภูผาม่าน สูงประมาณ 250 เมตร มีความสูงชันตั้งเด่นเป็นสง่า มีลักษณะคล้ายผ้าม่าน สวยงามมาก จึงเป็นสัญลักษณ์ของ อำเภอภูผาม่าน
คำขวัญอำเภอ
“ภูผาม่านอุทยานขุนเขา ฝูงค้างคาวนับล้าน แลละลานถั่วเหลือง ลือเลืองเครื่องดื่มสมุนไพร ตรุษไทเทศกาล”
คำนิยาม
ภูผาม่าน เป็นภูเขาสูงประมาณ 250 เมตร มีความสูงชันตั้งเด่น เป็นสง่า มีลักษณะคล้ายผ้าม่าน สวยงามมากเป็นลาดกว้าง
ถ้ำค้างคาว มีค้างคาวพันธุ์หน้าย่น ซึ่งมีขนาดเล็กอาศัยอยู่นับล้านๆตัว ค้างคาวจะบินออกจากถ้ำ เป็นเส้นสายในเวลาประมาณ เวลา 17.30 – 18.30 น. ของทุกวัน
ถั่วเหลือง มีการปลูกถั่วเหลืองจำนวน 300 ครัวเรือน ประมาณ 1,550 ไร่ ปลูกเป็นอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว มีการรวมกลุ่มกันแบบธรรมชาติ ได้รับปัจจัยการปลิตภาครัฐสนับสนุน ผลผลิตขายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น
ลือเลืองเครื่องดื่มสมุนไพร ชาวบ้านกลุ่มอาชีพบ้านทรัพย์สมบูรณ์ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป ทำจากสมุนไพรต่าง ๆ ในรูปชงพร้อมดื่ม เช่น ดอกคำฝอย ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมว กระเจี๊ยบ มะตูม
ตรุษไทเทศกาล ประเพณีตรุษไทภูผาม่าน จัดขึ้นในแรม 15 ค่ำ เดือนสี่ และขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นประเพณีที่ชาวไทภูผาม่านเชื่อว่าเมื่อประกอบพิธีนี้แล้วจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่แห้งแล้งมีแต่ความอุดมสมบูรณ์มีโอกาสได้ขอพรจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน
ของดี ไทภู วัฒนธรรมประเพณี
ชาวอำเภอภูผาม่านมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นที่มีความสำคัญและยึดถือสืบทอดกันมาจนเป็น อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวอำเภอภูผาม่าน ได้แก่
– การแต่งกาย ชาวภูผาม่านมีการทอผ้าเป็นอาชีพเสริมและใช้เองในครัวเรือน มีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้ายชาวภูผาม่านจะแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าพื้นที่ใกล้เคียงคือ ชุดตรุษไทภูผาม่าน โดย ผู้หญิงจะสวมเสื้อสีดอกหมาก นุ่งผ้าซิ่นควบ(สีแดง สีเขียว สีม่วง) ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าสะโหล่ง
– ภาษา ชาวอำเภอภูผาม่านมีภาษาพูดประจำถิ่น คือ ภาษาไทภูผาม่าน (ภาษาลาวเถิง) สำเนียงคล้ายกับภาษาท้องถิ่นจังหวัดเลยและภาษาท้องถิ่นของอำเภอหล่มสักจังหวัดเพชรบูรณ์
– ขนม อาหารพื้นบ้าน จะทำกันในช่วงเทศกาลหรืองานบุญต่างๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อถวายพระสงฆ์และเลี้ยงแขกที่มาเยี่ยมเยือนและอุทิศหาบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ได้แก่ คั่วเนื้อ หรือคั่วปลา ขนมจีน ข้าวเฮียง ข้าวตอก ข้าวปาด ข้าวเหนียวแดง ขนมฝักบัว
– การละเล่นพื้นบ้านประเพณีตรุษไทภูผาม่าน เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความร่าเริง ยินดี เฉลิมฉลองด้วยการกิน การดื่ม การเที่ยวและการละเล่น จึงมีการละเล่นต่างๆ มากมาย แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าการละเล่นบางอย่างอาจจะล้มเลิกไป เช่น ขี่ม้าหลังโปก ชนไก่คน ตบมวยแม่บักผาบหมาไล่ห่าน แม่ฮ้าง–พ่อหม้าย ตะก้อไอ้เม่งหนอนหลัก เสือกินวัว บักหึ่มต่อไก่ เป็นต้น ส่วนการละเล่นซักกะเย่อ สะบ้า ขาโถกเถก วิ่งกะโหลกกะลา วิ่งกระสอบ มอญซ่อนผ้า ปีนต้นหมาก ยังมีเล่นกันอยู่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบันการละเล่นรื่นเริงเหล่านี้ซบเซาลงไปมากจนแทบจะไม่หลงเหลือให้เห็นร่องรอย เพราะแม้แต่เด็กๆ ยังไม่นิยมเล่น อาจเป็นเพราะสังคมปัจจุบันมีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากสมัยก่อน เนื่องจากการคมนาคมสะดวกและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ประเพณีพื้นถิ่น “ตรุษไทภูผาม่าน”
ประเพณีตรุษไทภูผาม่าน จัดขึ้นในแรม 15 ค่ำ เดือนสี่ และขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า เป็นประเพณีที่ชาวไทภูผาม่านเชื่อว่าเมื่อประกอบพิธีนี้แล้วจะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ไม่แห้งแล้งมีแต่ความอุดมสมบูรณ์มีโอกาสได้ขอพรจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน และเป็นการขอขมาหรือขอโทษผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าที่เคยล่วงเกินด้วยกาย วาจา ใจ ทำให้เกิดเป็นสิริมงคลต่อตนเองต่อครอบครัวต่อหมู่บ้าน เกิดความรักความสามัคคี เพราะในวันนี้ลูกหลานที่ไปประกอบอาชีพตามท้องถิ่นต่าง ๆ จะเดินทางกลับมาบ้านเพื่อร่วมทำบุญหาบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วโดยนำข้าวปลา – อาหารไปถวายพระสงฆ์สามเณร เพื่ออุทิศส่วนกุศลหาผู้ตายและเป็นการเฉลิมฉลองให้ตนเองและบ้านเมืองที่อายุผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ มาได้อีกหนึ่งปี จึงมีการละเล่น เพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงานหนักมาตลอดปี จะมีการละเล่นตลอดสามวันสามคืนโดยไม่ประกอบภารกิจใด ๆ จึงถือได้ว่าเป็นประเพณีที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบโบราณ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อผีเจ้านายและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพทางการเกษตรอีกด้วย
การท่องเที่ยว
อำเภอภูผาม่านเป็นอำเภอที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อันประกอบด้วย ถ้ำค้างคาว ถ้ำภูตาหลอ น้ำตกตาดใหญ่ จุดชมวิวดงสะคร่าน ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อำเภอจึงได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ และมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการท่องเที่ยวต่าง ๆ ประกอบด้วย อำเภอภูผาม่านเป็นอำเภอที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อันประกอบด้วย ถ้ำค้างคาว ถ้ำภูตาหลอ น้ำตกตาดใหญ่ จุดชมวิวดงสะคร่าน ซึ่งเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อำเภอจึงได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ และมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการท่องเที่ยวต่าง ๆ ประกอบด้วย
การท่องเที่ยวธรรมชาติ ซึ่งสามารถท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติได้ทุกแห่งและไม่ทำลายธรรมชาติ ประกอบด้วย
– ชมความงามของถ้ำภูตาหลอ ตำบลวังสวาบ
– ชมเกษตรท่องเที่ยวและหมู่บ้านเครื่องดื่มสมุนไพร ตำบลห้วยม่วง
– ชมความมหัศจรรย์ของฝูงค้างคาวนับล้านที่ถ้ำค้างคาว ตำบลภูผาม่าน
– สัมผัสธรรมชาติทะเลภูเขา ณ จุดชมวิวดงสะคร่าน ตำบลวังสวาบ
– รื่นรมย์กับธรรมชาติอันสวยงาม ตำบลโนนคอม
– ชมความงามของน้ำตก และเล่นน้ำที่น้ำตกตาดใหญ่ ตำบลวังสวาบ
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยท่องเที่ยวทางการเกษตร อันประกอบด้วย
– หมู่บ้านเครื่องดื่มสมุนไพร ตำบลห้วยม่วง
– หมู่บ้านปลูกลำไย,ส้มโอ ตำบลห้วยม่วง
– หมู่บ้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ตำบลนาฝาย
– หมู่บ้านปลูกฝรั่งตำบลโนนคอม,ตำบลนาฝาย
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำภูตาหลอ เป็นถ้ำที่มีปากถ้ำไม่กว้าง พื้นที่ภายในมีขนาดใหญ่ ตอนกลางถ้ำสูงประมาณ 10 – 15 เมตร พื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ มีหินงอกหินย้อยประมาณ 1 ใน 4 ของเพดานถ้ำ หินงอกหินย้อยอยู่ในสภาพที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด พื้นถ้ำเป็นดินเรียบ อากาศเย็นสบาย ไม่อึดอัด ไม่มีค้างคาว ไม่มีกลิ่นอับชื้น หินบางก้อนมีลักษณะคล้ายหินเขี้ยวหนุมาน พื้นที่ถ้าบางส่วนยังไม่มีการสำรวจ ตั้งอยู่บ้านวังสวาบ หมู่ที่ 1 ตำบลวังสวาบ ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 17 กิโลเมตร