ประวัติ อำเภอเวียงเก่า มีความเป็นมายาวนาน นับแต่ยุคดึกดำบรรพ์ กิ่งอำเภอเวียงเก่า แยกการปกครองออกจากอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 รวมพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลเขาน้อย ตำบลเมืองเก่าพัฒนา และตำบลในเมือง บริเวณพื้นที่จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเวียงเก่า ปัจจุบันปรากฏหลักฐานจารึกทางประวัติศาสตร์ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 เคยเป็นที่ตั้งเมืองเก่าแก่ ชื่อ “เมืองภูเวียง” ถือว่าเป็นหัวเมืองเอกฝ่ายตะวันตกขอนแก่นในขณะนั้น โดยเล่าว่าเริ่มแรกมีพรานป่าชื่อ “สิงห์” ได้ชักชวนญาติพี่น้องราว 10 ครอบครัวจากบ้านข่าเชียงพิณ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณด่านช้างชุม (บ้านเมืองเก่า ในปัจจุบัน) เป็นที่ราบอุดมสมบูรณ์ต่อมามีราษฎรจากเมืองยโสธร นครจำปาศักดิ์ และนครเวียงจันทน์ ได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนั้นขึ้นการปกครองกับประเทศลาว ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของไทย ต่อมาพรานสิงห์ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์ เป็น “กวนทิพย์มนตรี” ปกครองเมือง ภูเวียง เมื่อถึงแก่กรรมเจ้านครเวียงจันทน์แต่งตั้ง “ท้าวศรีสุธอ” น้องชายของกวนทิพย์มนตรีขึ้นเป็นเจ้าเมือง แทนในช่วงนั้นเองพระวอ พระตา เจ้าเมือง เป็นกบฏเจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกทัพมาปราบและประหารชีวิตเสีย ที่เมืองดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี) พระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชองค์การรวมประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งเดียว เห็นว่าเจ้านครเวียงจันทน์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและรุกล้ำดินแดนไทย จึงสั่งให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบเจ้านครเวียงจันทน์ ยึดนครเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้ ท้าวศรีสุธอ ยอมอ่อนน้อมต่อพระยาจักรีจึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองภูเวียงดังเดิมแต่ให้ขึ้นกับ เจ้าเมืองหนองคายซึ่งเป็นเมืองใหญ่ เมื่อท้าวศรีสุธอถึงแก่กรรม มีเจ้าเมืองต่อมาอีก 2 คน ในปี ร.ศ.121 หรือ พ.ศ. 2445 สมัยรัชการที่ 5 ได้ยกเมืองภูเวียงเป็นอำเภอภูเวียงขึ้นต่อจังหวัดขอนแก่น โดยแต่งตั้งพระประสิทธิสรรการ (สีหะไกร) เป็นนายอำเภอคนแรกที่ว่าการอำเภอภูเวียง ตั้งอยู่ริมหนองคู (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า) และต่อมาเมื่อได้ย้ายที่ว่าการอำเภอภูเวียง ไปตั้งอยู่บริเวณ ตำบลนาก้านเหลือง อำเภอภูเวียง ซึ่งเป็นที่ตั้ง ของอำเภอภูเวียงในปัจจุบัน
ที่ตั้งของอำเภอภูเวียง เดิมจึงลดฐานะจากเดิมเป็นเพียงตำบลเดียวคือตำบลในเมือง ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ด้วยแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชนชาว “ในภูจึงเป็นสองเมืองภูเวียง เวียงเก่า” และยกฐานะเป็นอำเภอเวียงเก่า โดยการนำของ พลเอก ดร.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ร่วมกับราษฎรในพื้นที ที่ว่าการอำเภอเวียงเก่า คือ บริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอภูเวียงเดิม มีเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา
คำขวัญอำเภอ
ศาลเจ้าจอมนรินทร์ ถิ่นไดโนเสาร์ล้านปี อากาศดี อุทยานเด่น เป็นแหล่งอารยธรรม เลิศล้ำภูตากา ตาดฟ้าผาชมตะวัน มหัศจรรย์ขุนเขา เวียงเก่าน่าอยู่
สถานที่ท่องเที่ยว
สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2513 หน่วยสำรวจธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าไปสำรวจแหล่งแร่ในพื้นที่เทือกเขาภูเวียง จังหวัดขอนแก่น และได้พบแร่ยูเรเนียมชนิดคอฟฟินไนต์เกิดร่วมกับ แร่ทองแดงชนิดอะซูไรต์และมาลาไคต์ ทำให้ต่อมาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานปรมาณูเข้าไปสำรวจเพิ่มเติมด้วย ระหว่างปีพ.ศ. 2518 ตลอดจน 2523 กรมทรัพยากรธรณีได้เข้าไปทำการเจาะสำรวจในรายละเอียด ในปี พ.ศ. 2519 นายกธรณีวิทยา ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์เศษกระดูกไดโนเสาร์บริเวณพื้นลำห้วยประตูตีหมา และต่อมาวินิจฉัยได้ว่าเป็นเศษส่วนปลายของกระดูกขาหลังท่อนบนด้านซ้ายของไดโนเสาร์ซอริสเชียในกลุ่มซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่มี 4 ขา คอยาว หางยาว) โดยถือได้ว่าเป็นการค้นพบหลักฐานไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกของไทยที่นำไปสู่การสำรวจและวิจัยอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน
วัดถ้ำผาเกิ้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา บรรยากาศร่มรื่นสถานที่กว้างขวางบริเวณวัดมีศาลาไม้ขนาดใหญ่เป็นการรวมแรงกายแรงใจ และแรงศรัทธาอันบริสุทธิ์ของชาวบ้านโคกหนองขามและหมู่บ้านใกล้เคียง ภายในอำเภอเวียงเก่า และศรัทธาจากจังหวัดขอนแก่น วัดถ้ำผาเกิ้ง ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูเวียง ห่างจากบ้านหนองดู่ หมู่ที่ 12 ต.ในเมือง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะเด่น คือ พระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ปัจจุบัน
ต้นยางยัก ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูเวียง เขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า ขึ้นไปทางลานกางเต็นท์ การเดินทาง : จากตัวจังหวัดขอนแก่น ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ผ่านอำเภอบ้านฝา อำเภอหนองเรือ ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร แยกขวา เข้าทางหลวงหมายเลข 2038 เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร ถึงอำเภอภูเวียง แล้วใช้เส้นทางภูเวียง-บ้านเมืองใหม่ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายตรงทางเข้าอ่างเก็บน้ำบ้านโพธิ์ เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเวียง จากนั้นเดินทางโดยรถยนต์ขึ้นเขาอีกประมาณ 10 กิโลเมตร
รอยตีนไดโนเสาร์ ประเภทสถานที่ : สถานที่ท่องเที่ยว ตามธรรมชาติ / น้ำตก ที่อยู่ : ต.ในเมือง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น รอยตีนไดโนเสาร์อยู่บนเขาภูเวียง ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็ก
ถ้ำฝ่ามือแดง ถ้ำแมงป่อง ที่ตั้ง : บ้านหินร่อง ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง พิกัดทางภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 16o 37′ เหนือ เส้นแวงที่ 102o 15′ ตะวันออก พิกัดกริดที่ 48 QTD 082398 ระวางที่ 5442 II สภาพที่ตั้งและลักษณะของถ้ำเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกัน สูงประมาณ 15 เมตร อยู่บนเขาภูเวียง ห่างจากบ้านหินร่องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กม. เพิงหินที่พบภาพเขียนสีนั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภาพเขียนสีภาพที่ปรากฏเป็นภาพมือทั้งหมด 9 มือ เป็นข้างซ้ายของผู้ใหญ่ 7 มือ ของเด็ก 2 มือ (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2507 ทำขึ้นโดยการระบายด้วยสีแดงรอบมือที่ทาบบนผนัง ไม่ใช่ใช้วิธีพ่น
อุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลเมืองเก่าพัฒนา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นสวนสาธารณะริมเส้นทางระหว่างทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง มีพื้นที่ 25 ไร่ มีฉากหลังเป็นเทือกเขาภูเวียง อุทยานแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ 19 ธันวาคม 2550 ในบริเวณจัดทำเป็นสวนพักผ่อน สวนสุขภาพ มีโขดหิน น้ำตก บ่อน้ำ สวนหย่อม สนามนั่งเล่น มีหุ่นไดโนเสาร์จำลองเรียงรายทั่วบริเวณนับร้อยตัว บางตัวสามารถร้องได้ เคลื่อนไหวได้คล้ายของจริงโดยต้องหยอดเงินที่ตู้ เป็นไดโนเสาร์ที่มีการค้นพบฟอสซิล ในภาคอีสาน การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปอุทยานแห่งชาติภูเวียง โดยเดินทางจากขอนแก่นถึงอำเภอภูเวียงระยะทาง 70 กิโลเมตร และเดินทางจากตัวอำเภอต่อไปอีก 7 กิโลเมตร จะเห็นอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงอยู่ด้านซ้ายมือ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถ ไม่มีที่จอดระสำหรับคนพิการ แต่ที่จอดรถเป็นลาน
ของดีของฝาก ผ้าภูมิคีรีย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มอาชีพนาตาด หมู่ 6 ตำบลเขาน้อย อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น นำผ้าฝ้ายเข็นมือ มาย้อมกับสีของดิน ที่ได้จากการตำหินให้ละเอียด นำมาย้อมแล้วทอสีที่ได้ออกมา จะให้โทนส้มและชมพูอ่อน ๆ แต่ละชั้นสีและความเข้มจะให้โทนสีแตกต่างกัน เป็นเสน่ห์ที่หายากจากการย้อมสีธรรมชาติ สนใจผลิตภัณฑ์ติดต่อ 084 261 5593
ของดีของฝาก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหญ้าแฝกและเส้นไหม (แฝกของพ่อไหมของแม่) บ้านโคกม่วง ต.เมืองเก่าพัฒนา อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น ผลิตภัณฑ์จากหญ้าแฝก การนำ”หญ้าแฝก และเส้น ไหม มาถักทอเป็นเกลียวแฝกแกมไหม ประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาไดโนเสาร์ สวยงามเป็นอัตลักษณ์ของเวียงเก่า เมืองขอนแก่น ปัจจุบันนี้ทำอยู่ภายในครอบครัว และพยายามถ่ายทอดให้ชุมชน เพื่อจะได้เป็นสินค้าที่ระลึกของฝากจากดินแดนไดโนเสาร์ 130 ล้านปี สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์แฝกแกมไหมไดโนเสาร์ จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอเวียงเก่า ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ facebook สวนธรรมจักรปลูกหญ้าแฝกให้แผ่นดิน หรือโทร 087 690 8083