วัดโพธิ์โนนทัน


ผญาท่ารำแคน : ออนซอนฟ้อนเตี้ยม่วนๆที่โนนทัน ศูนย์เรียนรู้เรื่องฟ้อนเตี้ยโนนทัน

สำหรับคนอีสานแล้ว “วัด”คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งรวมใจของชาวบ้าน หลังจากก่อบ้านสร้างเมืองขึ้นมาแล้ว ชาวอีสานจะรวมใจกันก่อสร้างวัดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างชุมชน “วัดโพธิ์โนนทัน” ของชุมชนโนนทัน  เป็นหนึ่งใน 4 วัดสำคัญที่สร้างขึ้นในยุคขอนแก่นสร้างบ้านแปลงเมือง  และถือเป็นวัดประจำเมือง มีชื่อเดิมชาวบ้านเรียกว่าวัดโพนทัน แล้วเพี้ยนเป็นวัดโนนทัน ที่ตั้งขึ้นตามพื้นที่ คือวัดโนนทันตั้งอยู่บนเนินต้นทัน หรือภาษากลางเรียกต้นพุทรา จนมีการตั้งชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดโพธิ์”  

ในยุคนั้นการขุดพื้นที่เพื่อก่อสร้างวัด พบว่าชุมชนโนนทันเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญอีกแหล่ง ใต้ฐานอุโบสถหลังใหม่ขุดค้นพบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องมือโบราณ และภาชนะดินเผาจำนวนมาก ทางวัดจึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ และวัตถุโบราณที่เก็บรวบรวมจากแหล่งอื่น เช่น ตราประทับประจำตำแหน่งพระนครศรีบริรักษ์ เสื้อของพระนครศรีบริรักษ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ของชาวอีสานในอดีต  ตู้พระธรรมลายรดน้ำ  ที่ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบกราณวัตถุที่สำคัญของวัดโพธิ์ หนังสือใบลานที่ห่อผ้าแล้วจัดเก็บไว้อย่างดี โบราณวัตถุทุกชิ้นถูกจัดเก็บในตู้ แยกประเภท   จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมบริเวณชั้นล่างอุโบสถ  ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีทั้ง เสื้อของพระนครศรีบริรักษ์ (อิน) อดีตเจ้าเมืองขอนแก่น  ตราประทับ กระบอกใส่เอกสาร และกล่องใส่ยาเส้น  พระครูโพธิสารคุณ  วัดโพธิ์โนนทัน มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นได้จัดแสดงไว้ พร้อมกับข้อมูลการพัฒนาเมืองขอนแก่นด้วย นอกจากนี้ชุมชนโนนทันเป็นหนึ่งใน 4 ชุมชน ที่ทางกรมศิลปากรที่  ระบุว่า เป็นแหล่โบราณคดีที่สำคัญในเขตเมืองด้วย

คำโบราณเพิ่นเว้าว่าคำปากผู้ชายหวานคือน้ำตาลทรายขาว ล่อมดแดงให้ตายย่อน

เสียงแคนที่ดังขึ้นพร้อมๆกับเสียงร้องคำผญาที่มีความหมายในการเกี้ยวพาราสี ในทำนองเพลงสนุกสนาน  และไถ่ถามกันระหว่างชายหญิง ในวัดโพธิ์โนนทัน   เป็นอีกหนึ่งประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ชุมชนโนนทันสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่ตั้งชุมชน  แม่สุลักษณ์ นิสยันต์ ประธานชมรมฟ้อนเตี้ยโนนทัน ผู้รวบรวมกลอนลำไว้ เพื่อใช้ในการถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง

ฟ้อนเตี้ยโนนทัน มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ฟ้อนเตี้ยเดือน 5” เป็นการละเล่นในเทศกาลสงกรานต์ของชาวบ้านโนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น เริ่มขึ้นในช่วงประมาณปี  2478 โดยนางนิ่มนวล สุวรรณกูฏ อดีตครู  เป็นผู้ริเริ่ม ที่สนใจเรียนรู้เรื่องการแสดงฟ้อนเตี้ยตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยการไปร่วมละเล่นกิจกรรมของชุมชนบ้านโนนทันในอดีตกับบิดามารดา ด้วยความชื่นชอบและหลงไหล คุณยายจึงได้จดจําเอามาฝึกฝนเองจนเกิดความชํานาญ   นำหนุ่มสาวในหมู่บ้านเล่นเพื่อความสนุกสนานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชายหญิงจะว่างเว้นจากการทำนา ได้ทำบุญวันสงกรานต์ แต่ละบ้าน แต่ละคุ้ม แต่ละวัด จะจัดให้มีการละเล่น เช่นการเล่นสะบ้า ลิงชิงหลักและมอญซ่อนผ้า เป็นต้น พอตกดึกจะมีการร้องรำทำเพลง คือการลำและฟ้อนเตี้ยโนนทัน  มีดนตรีประกอบที่สร้างความสนุกสนานคือ แคน ลักษณะการละเล่นเหมือนกับเพลงปฏิพากย์ คือ เป็นการขับลำโต้ตอบระหว่างหญิงชาย ด้วยกลอนลำสั้นๆ ประกอบทำนองแคน ในบางช่วงจะมีการฟ้อนด้วยท่าย่อตัวให้ต่ำและยืดตัวเอนไปมา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อการละเล่นนี้ว่า “ฟ้อนเตี้ย” ซึ่งหมายถึงการขับลำ ประกอบการฟ้อนด้วยท่าเตี้ย นั่นเอง

ฟ้อนเตี้ยโนนทันจะมี 4  ลักษณะเด่น คือ กลอนลำ ท่ารำ ดนตรีและการแต่งกาย  ซึ่งกลอนลำนี้จะเป็นกลอนสั้นๆ ร้องตอบโต้กันระหว่างชายหญิง  กลอนจะมีความหมายที่ลึกซึ้ง  เนื้อหาจะเป็นการเกี้ยวพาราสี  ร้องให้อีกฝ่ายหลงรัก ใช้ภาษาสุภาพ  ให้อีกฝ่ายเห็นใจ สนใจ สงสารจนรับรักกัน

ที่มาของชื่อฟ้อนเตี้ยมาจากท่ารำ การฟ้อนทั้งชายและหญิง โดยฝ่ายชายจะเดินรุก 3 ก้าว  หญิงถอย 3 ก้าว แล้วสลับหญิงรุก  3 ก้าว ชายถอย  3 ก้าว  ท่วงท่าร่ายรำการฟ้อนที่อ่อนช้อยงดงาม  การฟ้อนมีการย่อตัวลง จนเป็นที่มาของชื่อว่าการฟ้อนเตี้ย แล้วค่อยๆยืนขึ้น เดินหน้า ถอยหลัง พร้อมกับเสียงแคนที่มีจังหวะสนุกสนาน  ส่งต่ออารมณ์ไปยังผู้ชมให้เข้ามาร่วมฟ้อนรำ

ส่วนกลอนลำ เป็นคำผญา คือ คำกลอนหรือคำปรัชญาของอีสาน  เป็นคำร้อยกรองที่คล้องจอง มีสัมผัสระหว่างข้อความไม่เข้มงวดและไม่มีฉันทลักษณ์   เวลาร้องเน้นคำหนักเบาเพื่อให้ผู้ฟังมีความเพลิดเพลินและจดจำได้ง่าย ปัจจุบันการเล่นผญายังหลงเหลือในหมอลำกลอนแบบอีสาน  เรื่องที่ถูกแต่งเป็นผญามีหลายเรื่อง  เช่น คำสอนทางศาสนา เรื่องราวในชีวิตประจำวัน การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว และการละเล่นของเด็ก    ซึ่งคำผญาฟ้อนเตี้ยนี้ทุกบทล้วน รวบรวมมาจากการแต่งขึ้นของคนรุ่นก่อนทั้งสิ้น

” คำผญาของฟ้อนเตี้ยจะมีความหมายของการเกี้ยวพาราสีกัน การร้องการรำของฟ้อนเตี้ยมักจะจัดขึ้นในวันสงกรานต์ เพราะเป็นวันที่หนุ่มสาว พ่อแม่ พี่น้อง ได้หยุดพักแล้วมาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา คำผญาที่รวบรวมไว้ คุณยายนิ่มที่เสียชีวิตไปแล้วจะเป็นผู้แต่งขึ้น ถือว่าคนที่แต่งคำผญาได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่อ่านหนังสือออก เข้าใจภาษาอีสานแตกฉาน รู้เรื่องการแต่งโคลงฉันท์และเข้าใจวัฒนธรรมอีสานเป็นอย่างดีจึงจะแต่งได้ ซึ่งปัจจุบันนี้หาไม่ได้แล้ว คนที่แต่งคำผญาฟ้อนเตี้ย เพราะยาก “แม่สุลักษณ์ กล่าว

ในยุคเก่า ไม่มีความบันเทิงอื่นๆมากนัก นานๆ เศรษฐีชาวขอนแก่นจะว่าจ้างคณะลิเกจากภาคกลางมาเล่นในจังหวัด เรียกว่าสร้างความตื่นเต้นให้กับชาวบ้านไปทั่วทั้งบาง  สมัยนั้นลิเกหาดูยาก เพราะต้องเดินทางมาไกล การร้องหมอลำ ร้องผญาคลอไปกับเสียงแคนเครื่องเป่าอีสานเป็นดนตรีชิ้นเดียวที่จะใช้ในการฟ้อนเตี้ย   เป็นดนตรีที่สร้างความสนุกสนานและความบันเทิงได้

การฟ้อนเตี้ยของชาวบ้านโนนทันเริ่มเสื่อมความนิยมลงตามภาวะสังคม จนเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่ยังจดจำได้   แต่ยังมีความพยายามในการสืบต่อประเพณีนี้เอาไว้  ปัจจุบันแม่สุลักษณ์ บอกว่า การฟ้อนเตี้ยโนนทันได้รวมกลุ่มกันเป็นชมรมฟ้อนเตี้ยโนนทันขึ้น มีสมาชิกกว่า 10 คน  เมื่อมีผู้สนใจมาติดต่อก็จะมาซ้อมร้อง ซ้อมรำด้วยกัน  ตลอด 13 ปีที่ตั้งเป็นชมรมได้ช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และพยายามรักษาไว้ ส่งต่อให้ลูกหลาน   โดยได้เป็นครูภูมิปัญญาสอนนักเรียนโรงเรียนโนนทัน ในวิชาเลือกของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6   โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ฟ้อนเตี้ยให้กับนักเรียน 2ชั่วโมง ในวันจันทร์ พฤหัสบดี และศุกร์  รวมทั้งสอนคน 3 เจนเนอเรชั่น คือ อบรมผู้สูงอายุ อบรมวัยรุ่น และอบรมนักเรียนประถม เพื่อส่งต่อความรู้ให้ลูกหลานรักษาไว้  ทำให้เจอเพชรเม็ดงามหลายคนสามารถร้องรำฟ้อนเตี้ยได้ไพเราะไม่แพ้คนคนรุ่นก่อน  

ชื่อแหล่งเรียนรู้ – ฟ้อนเตี้ยโนนทัน
นักจัดการการเรียนรู้ – สุลักษณ์ นิสยันต์ ประธานชมรมฟ้อนเตี้ยโนนทัน
ที่อยู่ – เลขที่  95/3 หมู่ 3 บ้านโนนทัน ถ.ฉิมพลี  ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
หลักสูตรเรียนรู้ – ศิลปะการฟ้อนเตี้ย

คลิกเพื่อดูแผนที่ : https://www.canva.com/design/DAGmi9_JQRI/xXH__A0dRXpZZlaumjFHrQ/edit