ศาลาไหมไทย


ตามฮอย(รอย)ซิ่นไหมที่ศาลาผ้าไหม ..มรดกไหมมัดหมี่ของประเทศ

 ผ้าไหมมัดหมี่ของอำเภอชนบทถูกถ่ายทอดเรื่องราวจากการบอกเล่าของผู้จัดการศาลาไหมไทย “กฤติมา  อนัดคะทัด” ข้อมูลจากคนรุ่นหลังที่เล่าสืบต่อกัน  เล่าว่า  ความชำนาญด้านการทอผ้าไหมมัดหมี่ของหญิงสาวชาวอำเภอชนบท ได้รับอิทธิพลมาจากช่างในพระราชวัง  โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่ากว่า 200 ปี  ทางกรุงเทพได้ยกทัพไปอัญเชิญพระแก้วมรกต  ระหว่างการเดินทางได้พักทัพที่อำเภอชนบทนานกว่า 2 ปี   ในช่วงนั้นจะมีการทอผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับทหาร ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่า ชาวบ้านอำเภอชนบทได้รับการถ่ายทอดจากช่างในวัง จึงทำให้ผ้าไหมมัดหมี่ที่นี่มีความประณีต สวยงาม โดดเด่นต่างจากที่อื่นๆ    

ลายหมี่กง ลายขันหมากเบ็ง ลายขอพระเทพหรือลายเชิงเทียน ถือเป็นลายเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา  ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมชนบท คือ “ลาย”และ “เทคนิคการทอผ้า”  เนื่องจากส่วนใหญ่ จะทอแบบ 3 ตะกอ ทำให้เนื้อผ้าแน่น สม่ำเสมอ มีลักษณะสีและลวดลายของผ้าด้านหนึ่งสีทึบกว่าอีกด้าน และที่สำคัญคือการใช้สีธรรมชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม คือ สีม่วง สีแดง สีเขียว สีเม็ดมะขาม

 ผ้าไหมมัดหมี่ของอำเภอชนบท มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องประวัติศาสตร์มาช้านาน  ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนายกระดับจัดสรรพื้นที่ก่อสร้างศาลาไหมไทย  เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ (12 สิงหาคม 2535) เพื่อเป็นศูนย์สืบสาน พระราชปณิธาน งานศิลปาชีพด้านผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมของภาคอีสาน  ภายในอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการ กรรมวิธีการผลิตผ้าไหม ตั้งแต่การมัดย้อม จนถึงวิธีการทอ รวมถึงผ้าไหมมัดหมี่โบราณ  398 ผืนหลากหลายลวดลาย  รวบรวมปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอชนบทมาทำผ้าไหม  มีโครงการส่งเสริมอาชีพสตรีในชนบท เรียกได้ว่าศาลาไหมไทยเป็นศูนย์กลางความรู้เกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ของอำเภอชนบทแบบครบวงจร

ศาลาไหมจึงเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับผ้าไหม  วิวัฒนาการของการทอผ้าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ทางศาลาไหมเตรียมปรับพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นรูปแบบพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมของจังหวัดด้วย  

ชื่อแหล่งเรียนรู้ –   ศาลาไหมไทย
นักจัดการการเรียนรู้-คุณกฤติมา  อนัดคะทัด ผู้จัดการศาลาไหมไทยและประธานวิสาหกิจชุมชนศาลาไหมไทย
ที่อยู่-  172 หมู่ 3 ถนนแจ้งสนิท ต.โนนพะยอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น  
หลักสูตรเรียนรู้-องค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหม ลายผ้าของอำเภอชนบทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  
ผลที่ได้รับ-ได้เรียนรู้วิวัฒนาการการทอผ้าไหมมัดหมี่  ลวดลายผ้าไหมของอำเภอชนบทที่ทางอำเภอได้รวบรวมไว้

คลิกเพื่อดูแผนที่ : https://www.canva.com/design/DAGmi-9AT4I/8G6u764XsLcDavZ3m39BQg/edit