วัดบึงแก้ว
รู้จัก “สิม” วัดบึงแก้วสไตล์ช่างญวน
“สิม” เป็นภาษาอีสานมาจากคำว่า “สีมา” หมายถึง โบสถ์ นั่นเอง ที่ขอนแก่นยังคงมีสิมโบราณให้ศึกษาความเป็นมาอยู่หลายแห่ง บางส่วนผุพังไปตามกาลเวลา ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามช่วยกันอนุรักษ์ให้พุทธศิลป์คงอยู่
การเดินทางมาเยือนอำเภอชนบท นอกจากจะมีผ้าไหมสวยๆให้ชมแล้ว สิมโบราณวัดบึงแก้ว ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีเรื่องเล่า ความเป็นมา รวมทั้งมีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรม มีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความงดงามและความสมถะที่น่าสนใจมาก
สิมวัดบึงแก้ว สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2464-2465 ก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้านอีสานโดยสกุลช่างญวณซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านงานปูนลักษณะก่ออิฐถือปูน ฐานตกแต่งแบบเรียบง่ายด้วยวัสดุท้องถิ่น มีประตูเข้าออกทางเดียว เจาะหน้าต่างขนาดเล็กไว้ที่ผนัง ส่วน ผนังด้านหลังปิดทึบ ผนังด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้นนูนต่ำแล้วระบายสีทับ ภาพปูนปั้นที่ปรากฎล้วนเป็นงานศิลปะพื้นที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม คติความเชื่อ และวิถีชีวิตของผู้คนในภาคอีสานในอดีต
คนพายเรือ ทอดแห ขบวนแห่ ทหารม้า พญานาค รวมทั้งลวดลายดอกไม้หลายรูปแบบ ภาพที่สะท้อนความร่วมสมัยในยุคก่อน เป็นปูนปั้นนูนต่ำ ทาสีทับอีกชั้นเป็นโทนสีหม่น คือ คราม เขียว และเหลือง หน้าบันด้านหน้าตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยเคลือบ เป็นศิลปกรรมพื้นถิ่นที่สวยงาม และถือเป็นรูปแบบเฉพาะของสิมวัดบึงแก้ว ที่ใช้การปั้นปูน แทนการระบายสี หรือที่เรียกว่าฮูปแต้ม ซึ่งเป็นสไตล์ของฝีมือช่างญวนที่มีความชำนาญในการก่อสร้างโดยใช้ปูนเป็นหลัก ซึ่งช่างจะเป็นทั้งผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง สิมญวนโดยส่วนมากมักนิยมสร้างเฉพาะเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากที่จังหวัดนครพนม ก่อนจะส่งผ่านเข้าไปยังพื้นที่ส่วนในของภาคอีสาน
สำหรับสิมวัดบึงแก้ว ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นสิมหนึ่งใน 12 สิมวัดอีสาน ที่กรมศิลปากรเตรียมดำเนินการบูรณะ เป็นโบราณสถานที่ยังมีการใช้งานอยู่ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ในการบูรณะเพื่อสร้างเส้นทางสายบุญเชื่อมโยงพระธาตุสำคัญ 3 แห่ง คือ พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ พระธาตุนาดูน ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และพระธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักศิลปากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 สำนัก ได้แก่ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น สำนักศิลปากรที่ 9 อุบลราชธานี และสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ตั้งเป้าแล้วเสร็จปี 2569
แม้ปัจจุบันภาพประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำระบายสีที่สิมวัดบึงแก้วจะเลือนรางไปบ้างตามกาลเวลา แต่ในส่วนที่เหลืออยู่ทั้งภาพหมอแคน ภาพชกมวย ภาพขบวนแห่ ลายดอกไม้ การประดับกระจกสีและกระจกเงา ยังคงมีให้ชื่นชมความสวยงามของช่างพื้นบ้าน เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่รวบรวมงานศิลปะพื้นบ้านอีสาน ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสิมทึบก่ออิฐถือปูนสกุลช่างญวนที่มีความน่าสนใจ รวมทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสิมโบราณที่เชื่อมโยงพระธาตุสำคัญในอีสานด้วย
ชื่อแหล่งเรียนรู้ – สิมวัดบึงแก้ว
นักจัดการการเรียนรู้ – นายประชิต บุญศรี สมาชิกสภาเทศบาลตำบลชนบทและกรรมการวัดบึงแก้ว
ที่อยู่ – วัดบึงแก้ว ถนนบึงแก้ว ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
หลักสูตรเรียนรู้ – สิมทึบวัดบึงแก้ว ศิลปะแบบพื้นบ้านอีสาน สกุลช่างญวณ
ผลที่ได้รับ – ได้ชื่นชมความสวยงามของโบราณสถานที่ยังคงเหลือความงดงาม งานศิลปะแบบพื้นบ้านอีสานที่หาดูได้ยาก
คลิกเพื่อดูแผนที่ : https://www.canva.com/design/DAGmi-9AT4I/8G6u764XsLcDavZ3m39BQg/edit