วัดจอมศรี


หากจะพูดว่าศรีฐานเป็นชุมชน 1,000 ปี ก็ไม่เกินจริง ดูจากโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดค้นพบได้ กรมศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น เข้ามาสำรวจและขุดค้นบางส่วน  จากข้อมูลพัฒนาการวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีฐาน  หลักฐานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี ภาพถ่ายทางอากาศของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ระบุว่าพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดี  พบในเมืองโบราณศรีฐาน  เป็นพื้นที่ที่มีคูน้ำล้อมรอบ ไม่ใช่เฉพาะแต่ภายในวัด แต่ทั้งหมู่บ้าน เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีปรากฎร่องรอยการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนสมัยโบราณอย่างน้อยถึง 5 สมัย  คือ สมัยที่ 1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หลักฐานที่ขุดพบคือเครื่องประดับสัมฤทธิ์    สมัยที่ 2 ทวารดี  ขุดพบใบเสมาดินทรายจำนวนมาก ที่ขุดพบในวัดจอมศรี     เศียรพระพุทธรูปมีประภามณฑล  หรือวงรอบพระเศียร  และร่องรอยเมืองคูน้ำ   สมัยที่ 3 ลพบุรีขุดพบเศษชิ้นส่วนภาชนะ  เครื่องถ้วยเขมร   เศษภาชนะดินเผาสมัยล้านช้าง ขุดพบโบราณวัตถุประเภทไห  สมัยที่ 4ล้านช้าง ขุดพบเศษภาชนะดินเผาล้านช้าง    และสมัยที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ คือการก่อสร้างวัดจอมศรี เมื่อปี 2397 รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แสดงให้เห็นว่ารอบเมืองโบราณศรีฐาน เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณขนาดใหญ่และเป็นชุมชนเดียวที่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ต่อเนื่องจากอดีตนับพันปี จนถึงปัจจุบัน  และใช้ชื่อศรีฐานเพียงชื่อเดียว

ชื่อเมืองว่า “ศรีฐาน” มาจากการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยทวารวดีตอนต้น  และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนที่มีเนินดินรูปวงรี   สูงจากระดับน้ำทะเล 175 เมตร   ในอดีตจึงเหมาะกับการตั้งบ้านเรือน  ปัจจุบันเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก  แม้พื้นที่จะกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่  แต่เมื่อก้าวย่างเข้าไปในวัดกลับรู้สึกเหมือนย้อนเวลาเข้าไปในอดีตอีกครั้ง มีทั้งความสงบเงียบ บรรยากาศที่เย็นสบาย  ภายในวัดเองล้วนมีหลักฐานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ค้นหา ทั้งเป็นที่ตั้งรูปเหมือนหลวงปู่ญาครูจัด อาคารจัดแสดงใบเสมา พระพุทธรูปขุดค้นพบ เครื่องปั้นดินเผา ต้นคิงคาว  ต้นมะขามยักษ์  ที่ล้วนเป็นหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของชาวชุมชนศรีฐานได้แทบทั้งสิ้น   และชาวบ้านยังเชื่อว่า ใต้ผืนดินชุมชนแห่งนี้ยังคงมีโบราณวัตถุฝังอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

วัดจอมศรีสถานที่สำคัญเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2379  ในสมัยนั้นชาวบ้านในชุมชนศรีฐานช่วยกันก่อสร้างขึ้น  การขุดเตรียมพื้นที่เพื่อสร้างวัด ทำให้พบโบราณวัตถุหลายชิ้นทั้ง ใบเสมา พระเครื่อง เครื่องปั้นดินเผา และเศียรพระพุทธรูป เป็นต้น     หลังจากเดินทางมาถึงวัดจอมศรีแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือการกราบไหว้สักการะศาลปู่ญาครูจัด มีความเชื่อว่าเป็นผู้ปกปักรักษาให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุขที่อยู่คู่เมืองคู่ชุมชน ชาวบ้านให้ความเคารพ ศรัทธามาช้านาน  ใกล้กันเป็นอาคารจัดเก็บใบเสมาที่ยังคงสภาพสมบูรณ์  สีของดินที่ใช้ทำใบเสมาเป็นหินทราย เมื่อสะท้อนกับแสงแดดแล้วใบเสมาจะมีสีชมพู ทำให้หลายคนเรียกใบเสมาหินทรายชิ้นนี้ว่า ใบเสมาสีชมพู   ใบเสมาที่ขุดค้นพบในวัดจอมศรี เป็นใบเสมาหินทรายแผ่นเสมาตกแต่งด้วยการแกะสลักเป็นสันนูนตรงกลางคล้ายแกนสถูป  ยังคงเหลือร่องรอยการสลักลายกลีบบัวที่ฐาน   ถือเป็นใบเสมาชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุด ถูกจัดเก็บไว้อย่างดีในห้องจัดแสดงเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมและศึกษาประวัติความเป็นมา

ชุมชนศรีฐานเป็นหนึ่ง ใน 13 เมืองที่มีร่องรอยอารยธรรมโบราณที่ขุดค้นพบร่องรอยคูน้ำคันดิน เมืองเป็นวงรี อยู่ในกลุ่มลุ่มน้ำชี จากร่องรอยคูน้ำมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชน กำหนดเขตของพื้นที่ที่มีความสำคัญ เพื่อความสะดวกในการเดินทางคมนาคม และเป็นกำแพงเมืองป้องกันศัตรูจากภายนอก  

อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ในชุมชนได้เป็นอย่างดี คือทั่วบริเวณวัดมีต้นไม้โบราณขนาดใหญ่ที่หาดูได้ยาก   ทั้งต้นคิ้งคาว ต้นมะเกลือที่ลูกสุกสีดำร่วงหล่นเต็มพื้น  และต้นมะขาม   ทำให้ในวัดร่มเย็น สงบ  ต้นคิ้งคาว ที่ออกเสียงแบบอีสาน หรือต้นค้างคาว อายุมากกว่า 100 ปี ยืนต้นสูงอยู่ริมกำแพงวัด   ขนาดลำต้น 10-12 คนโอบ   หมอยาโบราณจะนำไปเป็นยาสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา  รวมทั้งต้นมะขามที่ขึ้นให้ร่มเงาในวัด และนอกวัดขึ้นกลางถนนที่ชาวบ้านยังคงรักษาไว้ไม่ตัดออก  เพราะต้นไม้ที่ขึ้นมาร่วมทางประวัติศาสตร์ของชุมชนมานาน

ชื่อแหล่งเรียนรู้ – วัดจอมศรี เทศบาลนครขอนแก่น
นักจัดการการเรียนรู้ – นางนิตยา ขันโพธิ์น้อย ประธานชุมชนศรีฐาน 4
ที่อยู่ – เลขที่ 28/3 หมู่ 7 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
หลักสูตรเรียนรู้ – วัดจอมศรี ศูนย์กลางเชื่อมโยงจิตใจและความเชื่อของชาวบ้าน

คลิกเพื่อดูแผนที่ : https://www.canva.com/design/DAGmi9_JQRI/xXH__A0dRXpZZlaumjFHrQ/edit