เฮือนไทภู อ.ภูผาม่าน


เที่ยวภูผาม่าน เยือนเฮือนไทภู ดูผ้าฝ้าย

ต้นฝ้ายที่กำลังออกดอกอยู่หน้าบ้านไม้ 2 ชั้น ที่บ้านเซินเหนือ เป็นสัญลักษณ์ว่าคุณได้เดินเข้าเขต“เฮือนไทภู” แล้ว ชาวบ้านที่นี่มีฝีมือเรื่องการทอผ้าฝ้าย วัตถุดิบที่สำคัญอย่างฝ้ายจึงมีให้เห็น ต้นฝ้ายปลูกแซมอยู่ตามหัวไร่ปลายนา ชาวบ้านยังคงเก็บรักษาสายพันธุ์ฝ้ายไว้ถึง 3 สี คือสีน้ำตาลเข้ม สีน้ำตาลอ่อน และสีขาว ใช้ในการถักทอผ้าฝ้าย และให้ความรู้สำหรับผู้มาเยือน

เฮือนไทภูเป็นบ้านโบราณที่คนในชุมชนพยายามอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเหลือเฮือนไทภูเพียงหลังเดียวที่ยังคงลักษณะการสร้างบ้านตามรูปแบบของบ้านไทภูแบบเดิม คือไม่ใช้ตะปูตอกไม้เข้าด้วยกัน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีตะปู ชาวบ้านจึงใช้วิธีทำไม้เป็นลิ่มแล้วนำมาวางขัดกัน ด้วยเหตุนี้เฮือนไทภูแบบเดิมจะไม่มีตะปูปรากฏแม้แต่ดอกเดียว

“ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านที่เดินทางมาเยี่ยมชมหมู่บ้านค่ะ เชิญรับน้ำเฉลียงทอง welcome drink ได้เลยนะคะ” เสียงจาก “แม่ปราณี เดชบำรุง” เจ้าของเฮือนไทภู และในฐานะประธานกลุ่มทอผ้าฝ้ายเฮือนไทภู บ้านเซินเหนือ ต.โนนคอม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมให้ความรู้ด้านการทอผ้าฝ้าย และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย

แม่ปราณี เล่าว่า หลังจากว่างเว้นจากการทำนาแล้ว กิจกรรมยามว่างของผู้หญิงคือการปลูกและทอผ้าฝ้ายไว้ใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว สมัยก่อนบ้านทุกหลังจะปลูกฝ้ายไว้ข้างบ้านจะมีฝ้าย 3 สี คือฝ้ายสีขาว สีน้ำตาลแก่และฝ้ายสีน้ำตาลอ่อน ชาวบ้านไม่ได้ย้อมสีฝ้ายจะทอด้วยฝ้ายสีธรรมชาติ จึงทำให้ชาวบ้านที่นี่มีการอนุรักษ์สายพันธุ์ฝ้ายผ่านการทอผ้าด้วย

เสื้อผ้าฝ้าย หมวก พวงกุญแจ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝ้าย นำมาวางจำหน่ายที่ใต้ถุนเฮือนไทภู กี่ทอผ้าแบบโบราณยังคงมีการทอผ้าค้างอยู่ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมผลงาน รวมทั้งซื้อหาสินค้าจากผ้าฝ้ายเป็นที่ระลึก

“เอกลักษณ์ของลายผ้าไทภูคือผ้าควบ คือ ฝ้ายสองเส้นเข็นใส่กันเป็นหางกระรอก เราเรียกว่าผ้าควบหางกระรอก ทอจากเส้นฝ้ายสองเส้นต่างสีแล้วควบเป็นเส้นเดียว มีเทคนิคการทอที่เรียกว่าไหลมะเกลือ คือการทอผ้าแบบควบสองเส้นจากสีที่ย้อมโดยมะเกลือ จะได้สีเทาๆ ดำๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของสีมะเกลือ เป็นเทคนิคการเล่นลวดลาย สีสันของผ้าพื้นบ้านให้ดูมีมิติและน่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีลายดอกแก้ว ลายบายศรีเล็ก เป็นลายดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งบายศรีถือเป็นลายมงคลที่ชาวบ้านยึดถือกันมา”

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ชุมชน กลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้าน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อทั้งในรูปแบบทอเป็นผืน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเสื้อ ผ้าพันคอ หมวก และผ้าเป็นผืน อีกทั้งส่งเสริมให้ปลูกฝ้ายไม่ให้สูญพันธุ์ แต่ยังใช้สีที่หาได้จากธรรมชาติ จากท้องถิ่น ทำให้ภูมิปัญญายังคงอยู่ไม่หายไป จากความเอาจริงเอาจังของชาวบ้าน ปัจจุบันบ้านเซินเหนือ ถือเป็นชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเข้าเที่ยวชมหมู่บ้านต่อเนื่อง

นักจัดการการเรียนรู้- นางปราณี เดชบำรุง
ที่ตั้ง – เลขที่ 14 หมู่ 4 ต.โนนคอม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
หลักสูตรเรียนรู้- การทอผ้าฝ้ายแบบโบราณ ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ผ้าควบเอกลักษณ์ผ้าลายไทภู
ผลที่ได้รับ-วิถีชีวิตชาวอีสานแบบเดิมที่ยังคงอยู่ การทอผ้าใช้เองที่ใต้ถุนเฮือนไทภู เฮือนไม้ที่สร้างโดยไม่ได้ใช้ตะปู ทำเป็นลิ่มแล้วนำมาวางขัดกัน เหลืออยู่ไม่กี่หลัง